แนะนำตัวให้เรารู้จักหน่อยค่ะ
สวัสดีค่ะ ชื่อพลอยนะคะ ตอนนี้มาเรียนปริญญาโท MA International Relations ที่ University of Exeter ค่ะ
International relations คืออะไร
International Relations ก็คือความสัมพันธ์ระหว่างประเทศค่ะ เป็นสาขาหนึ่งของคณะรัฐศาสตร์ค่ะ การเรียนในหลักสูตรนี้ก็คือเป็นการทำความเข้าใจเกี่ยวกับความสัมพันธ์ การแลกเปลี่ยน การโต้ตอบ และการกระทำต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในระดับนานาชาติ ไม่ว่าจะเป็นระหว่างรัฐกับรัฐ หรือองค์กรระหว่างประเทศ หรือกลุ่มบุคคลและสังคม โดยอาจจะเป็นทั้งในด้านการเมือง เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และด้านต่าง ๆ อีกมากมายเลย หลักสูตรนี้มีเนื้อหาที่ค่อนข้างกว้างทำให้เราเข้าใจภาพรวมของการเมืองโลกและความเป็นไปที่เกิดขึ้นได้ในโลกปัจจุบัน โดยจะมีการเรียนในเรื่องของทฤษฎีต่าง ๆให้เรานำแนวคิดเชิงทฤษฎีมาทำความเข้าใจกับวิเคราะห์เหตุการณ์ นโยบาย และสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตได้
เหตุผลที่เลือกเรียนหลักสูตรนี้ ที่ University of Exeter
จริง ๆ เราจบปริญญาตรีมาด้านนี้อยู่แล้ว แล้วรู้สึกว่าอยากจะเพิ่มเติมความรู้ในด้านที่จบมาในเชิงลึกมากขึ้น จะได้เป็นประโยชน์ถ้าเราตัดสินใจจะทำงานเกี่ยวกับด้านนี้ในอนาคต เลยตัดสินใจมาเรียนต่อหลักสูตรนี้ค่ะ ตอนเราเลือกมหาวิทยาลัย เราได้เข้าไปดูรายละเอียดหลักสูตรนี้ ดูภาพรวมของวิธีการสอน แล้วก็รายวิชาที่ต้องเรียน ทั้งวิชาบังคับแล้วก็วิชาเลือก พอเราเข้าไปดูในหลาย ๆ มหาวิทยาลัยก็ตัดสินใจยื่นไปทั้งหมดหลายที่อยู่ค่ะ แต่ตอนจบหลังจากได้ offer ก็ตัดสินใจมาเรียนต่อที่ University of Exeter เพราะมีวิชาเลือกหลายตัวที่เราสนใจจะเรียนเฉพาะในด้านนี้ แล้วก็คิดว่าเมืองนี้เป็นเมืองที่น่าอยู่ ไม่ได้พลุกพล่านเหมือนเมืองใหญ่ เป็นเมืองที่เหมาะกับการศึกษา แล้วก็มีนักเรียนไทยไปเรียนที่นี่เยอะมาก ๆ
แชร์เรื่องการเรียนการสอนใน University of Exeter ว่าเป็นอย่างไร ได้เรียนอะไรบ้าง
สำหรับการเรียนการสอนที่ University of Exeter จะแบ่งออกเป็นสามเทอมนะคะ เทอมแรกเดือนกันยายนถึงธันวาคม เทอมที่สองเดือนมกราคมถึงมีนาคม เทอมที่สามเมษายนถึงมิถุนายนค่ะ โดยในส่วนของการเรียนการสอนวิชาต่าง ๆ จะเรียนในช่วงสองเทอมแรก ส่วนเทอมที่สามจะเป็นช่วงการทำ dissertation ค่ะ สำหรับการเรียนจะมีวิชาบังคับทั้งหมดหนึ่งวิชา คือวิชา International Relations: Power and Institutions ค่ะ โดยวิชานี้จะเป็นเหมือนการเรียนเกี่ยวกับทฤษฎีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศต่าง ๆ ที่สำคัญและเรียนเกี่ยวกับประเด็นสำคัญต่าง ๆ ที่จะเป็นพื้นฐานของการเรียนในหลักสูตรนี้และเพื่อให้ทำความเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในเชิงทฤษฎีมากยิ่งขึ้นค่ะ นอกจากนี้ในหลักสูตรยังมีวิชาบังคับอีกหนึ่งตัวซึ่งเราสามารถเลือกได้ว่าจะเรียนวิชาไหนระหว่างวิชา Foreign Policy Decision-Making กับ วิชา International Relations of the Middle East ซึ่งเราเลือกลงเรียนเป็นวิชา Foreign Policy Decision-Making ค่ะ ซึ่งจะสอนเกี่ยวกับการวิเคราะห์กระบวนการตัดสินใจและแนวคิดในการทำนโยบายต่างประเทศ โดยจะมีการวิเคราะห์ในเชิงจิตวิทยาและในเชิงทฤษฎีร่วมด้วยค่ะ วิชานี้เป็นหนึ่งในวิชาที่เราคิดว่าน่าสนใจมาก ๆ และน่าจะเป็นประโยชน์ในการวิเคราะห์นโยบายของประเทศต่าง ๆ ได้ดีค่ะ ส่วนอีกสองวิชาที่เหลือ เราสามารถเลือกเรียนวิชาอะไรก็ได้เลยจากหลักสูตรทั้งหมดที่เขามีให้เลือก ซึ่งถ้าใครสนใจจะไปลงเรียนวิชานอกคณะหรือวิชาของหลักสูตรปริญญาตรีก็สามารถทำได้เหมือนกันค่ะ แต่ว่าต้องไปถามเจ้าหน้าที่ประจำคณะอีกทีว่าเราสามารถไปเลือกลงตัวนอกคณะอันไหนได้บ้างค่ะ ส่วนตัวเราเลือกเป็นวิชาในคณะทั้งหมด เป็นวิชา International Organizations และวิชา State Building After Civil War ค่ะ
โดยสำหรับการลงทะเบียนเรียน เราจะต้องลงเองผ่านทางแอพของมหาวิทยาลัยในช่วงต้นเทอมนะคะ ในส่วนของวิชาบังคับเขาจะเลือกให้เราอัตโนมัติ แต่ในส่วนของวิชาที่เราต้องเลือกเอง เราควรจะแบ่งวิชาลงดี ๆ ให้สมดุลกันทั้งสองเทอม ไม่อย่างนั้นจะหนักเกินไปในเทอมที่เราเลือกลงวิชาเยอะกว่าค่ะ เราเลือกลงเป็นเทอมละสองวิชาค่ะ นอกจากนี้ยังมีวิชา dissertation ที่มีการสอนวิธีทำวิจัยและแนวคิดทฤษฎีต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อเป็นแนวทางให้เราในการทำ dissertation ค่ะ ในส่วนของการทำ dissertation คือเราก็ต้องเริ่มตั้งแต่เทอมหนึ่งเลยค่ะ เขาจะให้เวลาเราไปคิดหัวข้อก่อน แล้วก็ต้องเริ่มติดต่ออาจารย์ที่ปรึกษาเพื่อส่งหัวข้อในเดือนพฤษจิกายน และเริ่มส่งร่างแรกในช่วงต้นปีถัดไปค่ะ ก็คือเราต้องเรียนไปด้วยแล้วก็แบ่งเวลาให้การทำ dissertation ไปด้วยค่ะ
สำหรับวิธีการสอนส่วนใหญ่ก็คือจะไม่ได้เป็นในรูปแบบของ lecture แต่ทุกคลาสจะเป็น Seminar ค่ะ คือเขาจะมี assigned readings ของแต่ละสัปดาห์ให้เราไปอ่านค่ะ แล้วก็จะจับกลุ่มในเราพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดกับเพื่อน ๆในคลาส อาจารย์บางท่านก็จะให้แลกเปลี่ยนกันในเชิงทฤษฎีว่าเรามีความเห็นต่อทฤษฎีต่าง ๆ อย่างไร บางท่านก็ให้เราลองเอาทฤษฎีมาประยุกต์คิดวิเคราะห์กับกรณีศึกษาต่าง ๆ ซึ่งเราคิดว่ากระบวนการเรียนแบบนี้ทำให้เราได้รับรู้มุมมองและแนวทางการวิเคราะห์ใหม่ ๆ จากเพื่อน ๆในบางมุมที่เราไม่เคยคิดมาก่อน ทำให้บรรยากาศในห้องเรียนสนุกมากขึ้นค่ะ เรารู้สึกว่าบรรยากาศการเรียนในห้องอาจารย์จะเน้นการแลกเปลี่ยนความคิดจากนักเรียนเป็นหลัก แล้วการเรียนก็เน้นการเรียนรู้ด้วยตนเอง เพราะเราต้องอ่านหนังสือเยอะมาก ๆ ก่อนมาเรียนแต่ละคลาส แต่ละสัปดาห์ก็ต้องอ่านประมาณ 50-80 หน้าค่ะ ไม่อย่างนั้นเราจะไม่สามารถแลกเปลี่ยนความคิดในชั้นเรียนได้และก็จะไม่เข้าใจเนื้อหา เพราะอาจารย์ก็จะไม่ค่อยลงรายละเอียดการสอนมากนัก เขาก็จะคาดหวังให้เราอ่านและทำความเข้าใจล่วงหน้ามาแล้วค่ะ
คอร์สนี้เรียนจบไปสามารถไปทำงานอะไรได้บ้าง
เรียนจบด้านนี้ สามารถทำงานได้หลากหลายมาก ๆ ค่ะ ในส่วนของราชการจริง ๆ ที่ตรงสายสุดก็น่าจะเป็นกระทรวงการต่างประเทศค่ะ เพราะเราเรียนกับต่างประเทศมาโดยตรง แต่ก็สามารถทำงานราชการได้ทุกภาคส่วนเลยเพราะทุกหน่วยงานจะต้องมีฝ่ายที่ดูแลเรื่องการระหว่างประเทศอยู่แล้วค่ะ ในส่วนของเอกชนและภาคส่วนอื่น ๆ ก็สามารถเลือกทำงานได้หลากหลายมาก ๆ ค่ะ ไม่ว่าจะเป็นองค์กรระหว่างประเทศต่าง ๆ เช่น องค์กรย่อยต่าง ๆ ของ United Nations หรืองานในบริษัทเอกชนต่าง ๆ ด้าน human resource ค่ะ จริง ๆ จบสาขานี้สามารถเลือกทำงานได้หลากหลายมาก ๆ เพราะมันเป็นศาสตร์ที่สามารถประยุกต์ได้กับหลายด้านมากเลยค่ะ