วันนี้พี่ขอเป็นตัวแทนของ Hands On มาอธิบายคำ ศัพท์น่ารู้ ที่น้องๆ จะต้องเจอเมื่อต้องการสมัครเข้าเรียนที่ประเทศอังกฤษค่ะ พี่ขออธิบายคร่าวๆ ให้น้องๆ พอเข้าใจว่าจะต้องเจออะไรบ้าง และควรเตรียมตัวอย่างไร ส่วนรายละเอียดนั้นน้องๆ สามารถปรึกษาพี่ Counsellor ได้โดยตรงค่ะ
Taught Degree และ Research Degree
ข้อแตกต่างหลักๆ ระหว่างการเรียนสองแบบนี้ก็ คือ การเข้าชั้นเรียนนั่นเอง
Research Degree คือ เน้นการเขียนงานวิจัยส่งให้อาจารย์ที่ปรึกษาเป็นหลัก โดยมี หรือ ไม่มีการเรียนการสอนในชั้นเรียนซึ่งขึ้นอยู่กับแต่ละสาขาวิชา และแต่ละมหาวิทยาลัยกำหนด
Taught Degree จะมีการเรียนการสอนในห้องเรียนในภาคเรียนที่ 1 และ 2 ส่วนภาคเรียนที่ 3 มักจะเป็นการเขียนงานวิจัย (Dissertation) โดยรวมแล้ว การเรียนการสอนที่สหราชอาณาจักรนั้นจะเน้นการแสดงความคิดเห็นและการทำงานทั้งแบบเดี่ยวและกลุ่ม เพื่อให้นักศึกษาได้ฝึกการทำงานในหลากหลายทักษะ
IELTS
IELTS คือ การสอบวัดระดับภาษาอังกฤษ ทั้ง 4 ทักษะ (ฟัง, พูด, อ่าน, และเขียน) โดยนักศึกษา International (นักศึกษาต่างชาติ) จำเป็นต้องยื่นคะแนนผลสอบเพื่อสมัครเข้าเรียน คะแนนของการสอบ IELTS นั้น คือแบ่งตามแต่ละทักษะ จากนั้นคำนวนออกมาเป็นค่าเฉลี่ย โดยมีคะแนนอยู่ระหว่าง 1-9 (9 สูงสุด) แต่ละมหาวิทยาลัยจะมีการกำหนดคะแนนขั้นต่ำแตกต่างกันไปโดยน้องๆ สามารถตรวจสอบรายละเอียดได้จากเวปไซด์ของ Hands On เลยค่ะ
SoP
ง่ายๆเลย คือ เอกสารแนะนำตัวว่าทำไมถึงเหมาะสมกับการเข้าเรียนคอร์สเรียนนั้นๆ เป็นการเขียนลักษณะคล้ายๆ เรียงความว่า ตัวเราเองมีประสบการณ์อะไรมาบ้าง (รวมถึงเรื่องพื้นฐานความรู้ด้านการศึกษาต่างๆ) และพูดถึงแรงบันดาลใจว่าทำไมถึงสนใจสาขาวิชา และมหาวิทยาลัยนั้นๆ อาจจะรวมไปถึงความคาดหวังจากการเรียนและมีการวางแผนอนาคตหลังจากเรียนจบยังไง
Reference letter
จดหมายรับรองนั่นเองค่ะ ใครที่เพิ่งเรียนจบก็สามารถขอจดหมายรับรองจากอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยได้เลย ส่วนใครที่กำลังทำงานอยู่ก็ขอจากหัวหน้าที่ทำงาน 1ท่าน และอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยที่เราเคยเรียนอีก 1 ท่านค่ะ ให้แต่ละท่านเขียนถึงเราว่า เราเหมาะสมที่จะเรียนคอร์สนั้นๆ อย่างไร โดยปกติแล้วทางมหาวิทยาลัยที่อังกฤษจะขอจดหมายรับรอง 2 ฉบับ ค่ะ
Offer (Condition/ Unconditioned)
คำนี้น้องๆ จะเจอหลังจากยื่นใบสมัครแล้วค่ะ โดยการสมัครเรียนต่อระดับปริญญากับมหาวิทยาลัยในสหราชอาณาจักรนั้น น้องๆ ต้องทำการยื่นเอกสารต่างๆ เพื่อให้ทางมหาวิทยาลัยพิจารณาว่ามีคุณสมบัติเพียงพอที่จะเข้าเรียนในสาขาวิชานั้นๆ หรือไม่ หลังจากมหาวิทยาลัยพิจารณาแล้ว จะส่งอีเมลล์มาบอกผลการพิจารณาค่ะ ถ้าน้องๆ ได้ Offer กลับมา เท่ากับว่ามหาวิทยาลัยตอบรับใบสมัครเรียนของเรานั่นเองค่ะ (มีที่เรียนแล้ว เฮ้!)
จากนั้นมาดูรายละเอียดข้อสำคัญคร่าวๆ ก่อนค่ะ Offer จากทางมหาวิทยาลัยนั้น มี 2 แบบ ด้วยกัน คือ Condition และ Uncondition ค่ะ แปลตรงๆ ตัวเลยคือมีข้อแม้ต่างๆ ที่เราต้องทำเพิ่มเติมหรือเปล่านั้นเอง ถ้าได้ Unconditional Offer กลับมา น้องๆ ก็เก็บกระเป๋า เตรียมตัวดำเนินเรื่องเอกสารขั้นตอนต่อไปสำหรับการไปเรียนได้เลย เพราะมันหมายความว่า มหาวิทยาลัยรับเราเข้าเรียนแล้วโดยไม่มีเงื่อนไขนั่นเองค่า ส่วนใครที่ได้อีเมลล์กลับมาว่า Conditional Offer กลับมาก็ไม่ต้องตกใจค่ะ มหาวิทยาลัยจะบอกมาด้วยว่าต้องการอะไรเพิ่มเติม เช่น ต้องเรียนภาษาอังกฤษเพิ่มจำนวน xx สัปดาห์ หรือ ต้องสอบ IELTS ให้ได้คะแนน x.x เป็นต้นค่ะ ถ้าน้องๆ ทำได้ตามข้อกำหนดเพิ่มเติมเรียบร้อยแล้วนั้น ก็เข้าเรียนได้ค่ะ
International office
ตรงนี้รู้จักไว้อุ่นใจที่สุดค่ะ International Office จะอยู่ที่มหาวิทยาลัย เป็นที่ปรึกษาตั้งแต่ไม้จิ้มฟัน จนถึงปัญหาเรือรบ ให้กับนักศึกษานานาชาติ มีปัญหาอะไรนึกถึง International Office ไว้ สามารถ อีเมลล์, โทร, หรือเดินเข้าไปปรึกษาได้เลย แถมไม่มีปัญหา ก็ยังสามารถขอคำแนะนำต่างๆ ได้ด้วยนะ
General English Course/ Foundation/ Pre-sessional English Course
ก็ไปเรียนภาษาเพิ่มเติมทั้งหมดถูกไหมละคะ ถูกค่ะ แต่ไม่ทั้งหมดนะ สำหรับ 3 คอร์สเรียนนี้ ก็มีจุดประสงค์และเนื้อหาการเรียนที่แตกต่างกันออกไป General English Course เป็นการเรียนการสอนทั้งสี่ทักษะ (ฟัง, พูด, อ่าน, และ เขียน) ในภาษาอังกฤษสำหรับบุคคลทั่วไป ในขณะที่การไปเรียน Foundation English Course นั้น เป็นคอร์สเรียนภาษาสำหรับเตรียมตัวก่อนเข้าปริญญาตรี ส่วน Pre-sessional English Course นั้น เป็นการจัดการเรียนการสอนเฉพาะนักศึกษาที่ต้องการจะเรียนต่อในระดับปริญญาโทนั้นเองค่ะ เพราะฉะนั้น เนื้อหาวิชารวมไปถึงการบ้านทั้งสองแบบหลังนั้น จะเน้นไปที่ลักษณะของการเตรียมความพร้อมให้กับนักศึกษา เพิ่มเติมจากการเรียน 4 ทักษะข้างต้น เช่น การเขียนรายงาน หรือ การค้นหาแหล่งข้อมูลเพื่อมาเขียนรายงาน
Pre-master Course
มีเรียนปรับพื้นฐานภาษาอังกฤษแล้ว เรียนปรับพื้นฐานสำหรับเข้าเรียนปริญญาโทก็มีนะคะ ในกรณีนี้ เป็นคอร์สเรียนสำหรับน้องๆ ที่เกรดการศึกษามีไม่ถึงตามที่มหาวิทยาลัยกำหนด หรือ น้องๆ ที่มีพื้นฐานมาไม่เพียงพอกับสาขาวิชา ระยะเวลามีตั้งแต่ 3-12 เดือน ขึ้นอยู่กับการพิจารณาและการออกแบบหลักสูตรของทางมหาวิทยาลัยค่ะ
กีฬาสามัคคีเกมส์
กีฬาสีของนักเรียนไทยในอังกฤษนั้นเองค่ะ แต่ไม่ได้แบ่งเป็นสีนะ แบ่งตามมหาวิทยาลัยต่างหากค่ะ เข้าใจ concept ของงานคร่าวๆ เนอะ กีฬาสามัคคีเกมส์จะจัดขึ้นเป็นประจำทุกปีโดยจะเปลี่ยนสถานที่ไปตามเมืองต่างๆ ทั่วเกาะอังกฤษ จัดขึ้นโดยสามัคคีสมาคม ในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งสมาคมนี้ได้จัดตั้งโดยรัชกาลที่ 6 และจัดต่อเนื่องเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน โดยน้องๆ สามารถติดตามข่าวสารได้หลากหลายช่องทาง เช่น Facebook ของสถานทูตไทยในอังกฤษ หรือแม้กระทั้ง Facebook เพจ Alumni ต่างๆ ก็จะมีให้ติดตามกัน น้องๆ คนไหนไม่ถนัดลงแข่ง ก็อย่าลืมว่าเราเป็นกองเชียร์ข้างสนามที่สนุกสนานสุดๆ ได้! เพราะจุดประสงค์หลักไม่ใช่เพื่อแพ้หรือชนะ แต่เป็นการที่เราได้รู้จักเพื่อนๆ ต่างมหาวิทยาลัยต่างหากค่ะ