ใครกำลังจะเรียนต่อที่ UK ยกมือขึ้น! แน่นอนว่าการเรียนต่อเป็นเรื่องสำคัญที่เราจะต้องเตรียมตัวและวางแผนในหลายๆ อย่าง และก่อนที่เราจะไปเรียนได้นั้น เราจะต้องผ่านการสมัครเรียนเสียก่อนใช่ม่ะ เอกสารหลักๆ ที่เราต้องเตรียมสมัครก็คือ CV, Transcript, Passport, ผลสอบ IELTS, SoP และ Letter of Recommendation สิ่งที่หลายๆ คนมักจะหาข้อมูลกันเยอะมากก็คงไม่พ้นการเขียน CV, Statement of Purpose (SoP) และ Letter of Recommendation เพราะฉะนั้น วันนี้เราจะมาให้คำแนะนำในการเขียนสิ่งเหล่านั้นให้คุณเป๊ะปังเข้าตากรรมการกันค่ะ
ก่อนอื่นขอเริ่มต้นด้วย “การเขียน CV” กันเลยนะคะ
Curriculum Vitae หรือเรียกกันสั้นๆ ว่า CV เอ…ทำไมต้องใช้ CV ในการสมัครเรียนด้วย? นั่นก็เพราะว่าเจ้าตัว CV คือ การเขียนบอกข้อมูลแบบ general ให้ทางมหาวิทยาลัยพอทราบว่าเราเป็นใคร มาจากไหน และสิ่งหลักๆ ที่ต้องมีใน CV ก็คือ ข้อมูลส่วนตัว, ประวัติการศึกษา, ประสบการณ์การทำงาน, กิจกรรม, รางวัล ถ้ามี), ทักษะ และ References (ชื่อผู้รับรอง ซึ่งมักจะเป็นอาจารย์หรือหัวหน้าของเรา)
ทีนี้ก็รู้แล้วว่าจะต้องเขียนอะไรลงไปบ้าง ก็มาถึงขั้นตอนลงมือทำซะที แต่เอ…. มันต้องมีรูปแบบการเขียนยังไงล่ะ ง่ายๆ เลย แหล่งค้นตัวอย่างที่ดีที่สุดและรวดเร็วทันใจวัยรุ่นอย่างเราๆ ก็ “Google” เลย แน่นอนว่าเราจะเจอตัวอย่างมากกว่าล้านแปดตัวอย่าง แต่! เราไม่ควรที่จะลอกตัวอย่างเหล่านั้น เพราะเราแค่เอามาเป็นแนวไอเดียเท่านั้น CV ของเราเราก็ต้องสร้างความแตกต่างใช่ม่ะ เราก็ควรใส่ความเป็นตัวเราให้มากที่สุด
Tips การเขียน CV
- ต้องมีความชัดเจน และกระชับได้ใจความ
- ชื่ออีเมล์ควรเป็นชื่อจริงบวกนามสกุลของเรา เพื่อให้ดูเป็นทางการและทางมหาวิทยาลัยจะได้จัดเก็บหรือส่งอีเมล์หาเราได้ง่ายขึ้น
- แสดงถึงความเป็นมืออาชีพ อย่างเช่น การสะกดคำ แกรมม่า การเว้นวรรค และการใช้ฟ้อนต์ เป็นต้น ก่อนส่งก็ควรตรวจสอบให้เรียบร้อยซะก่อน บางทีเราทำเองเราอาจจะตาลาย ตรวจได้ไม่ครบ ก็ให้เพื่อนช่วยตรวจได้นะคะ จุดผิดเล็กๆ น้อยๆ ที่เราคิดว่าไม่สำคัญ แค่นี้ไม่เป็นอะไรหรอก จุ๊ๆ แต่กรรมการเค้าเห็นน้า ส่วน font ตัวอักษรก็ควรใช้แบบมาตรฐาน ไม่ควรใช้แนวน่ารักคิกขุหรืออาร์ตจ๋า
ผ่านการเขียน CV ไปแล้ว ต่อไปก็ถึงคิว “การเขียน SoP” กันแล้ว
Statement of Purpose หรือ SoP คือ การแนะนำตัวเราให้มหาวิทยาลัยได้รู้จักเรามากยิ่งขึ้น และเป็นส่วนสำคัญที่มหาวิทยาลัยพิจารณาในการรับเข้าเรียน เพราะฉะนั้น เวลาเราเขียน SoP เราก็ต้องดึงจุดเด่นของเราออกมาให้มากที่สุด บอกสิ่งที่มหาวิทยาลัยและคอร์สที่เราเลือกเรียนจะพาเราไปถึงเป้าหมายของเรา เอาล่ะ เวลาไม่เคยคอยใคร มาดูกันเลยดีกว่าว่า SoP ต้องเขียนอะไรบ้าง
การเขียน SoP ควรจะแบ่งย่อหน้าของแต่ละหัวข้อ ดังนี้
ย่อหน้าที่ 1 : ในส่วนนี้เราจะบอกเหตุผลว่าทำไมเราถึงเลือกสาขานี้ เรามีแรงจูงใจหรือแรงกระตุ้นอะไรที่บอกว่าสาขานี่และ ใช่เลยยย โดนใจฉันเลยยย (เอ้า เพลงมา) แล้วมันมีอะไรที่เกี่ยวข้องกับประสบการณ์และความสนใจของเรา บอกอย่างนี้อาจจะนึกภาพไม่ออกเดี๋ยวยกตัวอย่างดีกว่า เช่น เรียนจบวิทยาการคอมฯ แต่อยากไปต่อด้าน Marketing เอ๊ะ เดี๋ยวนะ … นี่มาคนละสายกันเลยนะเธอ เราต้องอธิบายในจุดนี้ว่าอะไรเป็นสิ่งที่ทำให้เราเลือกเรียน Marketing แทนที่จะเรียนสายเดิม
ย่อหน้าที่ 2 : เป็นส่วนที่เราบอกความสนใจเกี่ยวกับหลักสูตรที่เราเลือก แน่นอนล่ะว่ามหาวิทยาลัยเค้าก็อยากรู้ว่าทำไม๊ทำไมเราถึงสนใจหลักสูตรของเค้าล่ะ ถ้าเปรียบเทียบให้เข้าใจง่ายๆ ก็เหมือนกับการคบแฟน แฟนเค้าก็ต้องอยากรู้ว่าทำไมเราถึงเลือกคบเค้า ตรงไหนเหรอที่ทำให้เธอสนใจในตัวฉัน และจุดนี้แหละที่เราจะต้องบอกจุดแข็งของเค้าเพื่อพิชิตใจ ไม่ใช่แบบว่าก็ไม่รู้จะเลือกใครอ่ะ ก็เลยเลือกเธอ (มันไม่ใช่ป่ะ) มันก็ทำนองเดียวกันกับมหาวิทยาลัยที่เค้าอยากรู้ตรงจุดนี้ ดังนั้นควรหาข้อมูลหลักสูตรของมหาวิทยาลัยนั้นๆ ให้ดีนะคะ
ย่อหน้าที่ 3 : ส่วนที่จะบอกถึงประวัติการเรียนและการทำงานของเรา ซึ่งก็ควรจะเน้นความสำเร็จและประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องกับหลักสูตรที่เราเลือกเรียน อย่างด้านการเรียนเราบอกเกรดเฉลี่ยสวยๆ “แต่…พี่คะๆ เกรดเฉลี่ยปีแรกหนูไม่สวยเลย ยังตั้งตัวไม่ทัน ทำไงดีคะ” ถ้าเป็นอย่างนี้ ก็ให้เราเน้นไปเกรดปีหลังๆ อย่างปี 3 ปี 4 หรือเอาประสบการณ์การทำงานเข้ามาช่วยเสริมว่าการงานที่ทำนั้นได้พัฒนาตัวเราและนำไปสู่อนาคตของเรายังไง แล้วงานเราเป็นแรงบันดาลใจให้เรียนต่อสาขานี้ได้ยังไงบ้าง
ย่อหน้าที่ 4 : ส่วนสุดท้ายแล้ว เป็นส่วนที่เราจะเขียนถึงอนาคตอันสดใสของเรา พูดง่ายๆ ก็คือ เล่าว่าจบแล้วอยากทำอะไรนั่นเอง เขียนให้ชัดเจนที่สุดว่าอยากทำอะไร เขียนให้คนอ่านรู้ว่า นี่แหละ อนาคตของฉัน ฉันวางอนาคตของฉันไว้เรียบร้อยแล้ว
Tips การเขียน Statement of Purpose
- ชื่อ-นามสกุลผู้สมัคร และคอร์สที่สมัครจะต้องอยู่บนหัวกระดาษเสมอ
- ควรพิมพ์ให้สวยงามใส่กระดาษ A4 เลือก font ให้ดูน่าอ่านและเป็นทางการ ไม่ควรเขียนด้วยลายมือ
- จะใช้ British English หรือ American English ให้เลือกใช้อย่างใดอย่างหนึ่ง ไม่ควรใช้ผสมกัน
- ใช้ประโยคและคำง่ายๆ ได้ใจความ และตรงประเด็น ไม่ต้องใช้คำวิลิศมาหราเข้าใจยาก เพราะนี่เป็นสิ่งที่บอกมหาวิทยาลัยว่าเราสื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพนั่นเอง
- หลีกเลี่ยงจากใช้คำคม ถ้าจะบอกว่าก็คำคมนี่แหละเป็นสิ่งที่สร้างแรงบันดาลใจให้กับฉัน แต่เนื้อหาใน SoP ควรเป็นสิ่งที่เกี่ยวกับตัวเราเองนะ ไม่ใช่สิ่งที่คนอื่นเคยพูด
- ควรเขียน SoP ด้วยตัวเอง ไม่ควรเอาประโยคของคนอื่นมาดัดแปลง อันนี้สำคัญนะ เพราะ SoP คือสิ่งที่แสดงความเป็นตัวเรา มันลอกกันไม่ได้ ถ้ามหาวิทยาลัยพบว่าเราเอางานของคนอื่นมาใช้หรือดัดแปลง เราจะโดนมหาวิทยาลัยปฏิเสธเลยนะ
- ไม่ควรเขียน SoP แบบเดียว แล้วส่งให้กับทุกมหาวิทยาลัยที่เราสมัคร เพราะเหตุผลในการเลือกเรียนหลักสูตรของแต่ละมหาวิทยาลัยมันไม่เหมือนกัน เราควรสร้างความแตกต่าง SoP แต่ละอันนะคะ
- ให้เจ้าภาษาตรวจทาน SoP ของเรา แต่เอ ไม่มีเพื่อนชาวต่างเลย เราจะหาได้ที่ไหนล่ะ ทาง Hands On มีบริการตรวจทานและให้คำแนะนำการเขียน SoP โดยเจ้าภาษาและมีประสบการณ์หลายปีในด้านนี้ฟรีค่ะ
บทความต่อไป เราจะพูดถึงการเขียน Letter of Recommendation กันค่ะ คลิกอ่านบทความได้ที่นี่
มีคำถามหรือต้องการคำแนะนำเกี่ยวกับการเขียน SoP ลงทะเบียนเพื่อรับคำปรึกษาจาก SoP Clinic ได้ที่ www.hands-on.co.th/events/ ให้คำปรึกษาฟรีไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ (บริการพิเศษสำหรับน้องๆ ที่สนใจสมัครเรียนต่อ UK หรือ USA กับมหาวิทยาลัยที่ Hands On เป็นตัวแทนเท่านั้น)