หลังจากที่มีเป้าหมายในใจแล้วว่า เราสนใจมหาวิทยาลัยอะไรบ้างในอังกฤษ ก็มาถึงขั้นตอนการเตรียมตัวสมัครนั่นเอง ซึ่งเบื้องต้นก็จะต้องประกอบไปด้วยการสอบวัดระดับภาษาอังกฤษอย่าง IELTS การเขียนจดหมายแนะนำตัวหรือ SoP การขอจดหมาย Recommendation จากอาจารย์หรือหัวหน้างาน และงานเอกสารต่างๆ เป็นต้น
มหาวิทยาลัยในอังกฤษ ค่อนข้างในความสำคัญเกี่ยวกับภูมิหลังของนักเรียนที่มาสมัครเรียน ดังนั้นเกรดเฉลี่ยตอน ป.ตรี ก็เป็นหัวใจสำคัญเช่นกัน เรื่องอื่นๆ เขาก็สนใจนะ เพราะเราต้องเขียนลงใน SoP ด้วย อย่างจบอะไรมา ทำงานที่ไหน กี่ปี ผลงานอะไรบ้าง เคยช่วยเหลือสังคมไหม เป็นต้น
ขอแนะนำภูมิหลังของตัวเราเองก่อนเนาะ เราชื่อ “ศิ” จบจากคณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เราสนใจคอร์ส MSc in Entrepreneurship ซึ่งนับเป็นความโชคดีที่มาสนใจทาง business เพราะสายนี้เขาค่อนข้างจะยินดีต้อนรับจากคนทุกแขนง แม้แต่คนเรียนวาดรูปอย่างเรา แต่ถ้าไปสมัครพวกสาย education หรืออะไรที่มันเฉพาะทางกว่านั้น เขาก็จะส่ายหน้าเซย์โนวอย่างเดียว
เราจบด้วยเกรดเฉลี่ย 3.32 ทำให้เรามีมหาลัยให้เลือกค่อนข้างเยอะ ทำให้สิ่งที่ต้องเตรียมตัวต่อมาคือการสอบ IELTS ซึ่งจริงๆ เราว่าไม่ยากอย่างที่คิดนะ ออกตัวก่อนเราไม่ใช่คนที่ภาษาอังกฤษแน่นมาก ไม่ได้เรียนอินเตอร์มา เรียนโรงเรียนไทยก็เรียนไม่เก่ง อาศัยแค่ว่าทำงาน ดูซีรีส์ ฟังเพลง แล้วก็ความหน้าด้านในการพูดสำเนียงเลียนแบบ Gossip Girl โนแคร์โนสน
การสอบ IELTS มีสองแบบ คือแบบธรรมดา ราคาประมาณ 6,000 บาท กับแบบ UKVI ที่ราคาหมื่นกว่าบาท ซึ่งเราแนะนำให้สอบทั้งหมด 2 รอบ รอบแรกสอบแบบธรรมดาไปก่อน หลังจากที่ติวไปได้สักพักนะ จะได้รู้ว่าเราอ่อนอะไรกันแน่ ไปลองสนามด้วยแหละ แล้วพอพร้อมๆ เนี่ย ค่อยไปสอบแบบ UKVI ซึ่งคะแนนแบบ UKVI สามารถนำไปยื่นมหาลัยฯ เพื่อขอเรียน pre-sessional ได้ในกรณีที่เราคะแนนไม่ถึงตามที่มหาลัยกำหนด เช่น มหาลัยบอกว่าขอ 7 แต่เราดันสอบได้ 6.5 ถ้าเรามีคะแนน 6.5 แบบ UKVI มหาลัยจะยื่นข้อเสนอให้เราไปเรียนภาษาอังกฤษกับเขาก่อน ในขณะที่ถ้าสอบแบบธรรมดาไป จะไม่สามารถทำแบบนี้ได้
ข้อสอบ IELTS มีทั้งหมด 4 part ได้แก่ Listening, Reading, Writing และ Speaking ซึ่งช่วงเช้าจะสอบ 3 part แรก แล้ว speaking ก็จะเป็นช่วงบ่าย สำหรับเรานะ Listening ง่ายที่สุด ถ้าเป็นคนที่ดูหนังฟังเพลงฝรั่งบ่อยๆ แค่มีสมาธิแล้วไม่หลับก็ผ่านฉลุย (ทำเป็นเล่นไป มันง่วงจริงๆ นะ เพราะสอบเช้ามาก เราหลับไป 5 ข้อตอนไปสอบครั้งแรก 55555) ต่อมาคือ Reading ที่เหมือนจะปราบเซียน แต่ไม่เลย! ถ้าเราผ่านการฝึกทำข้อสอบมา เชื่อว่าทุกคนจะสามารถจับ pattern ได้ไม่ยาก ต่อมาที่เราว่าเริ่มปราบเซียนคือ Speaking ซึ่งมันมีทริคพอสมควร เพราะว่ากรรมการจะมี check-list อยู่ในใจ ว่าต้องพูดแบบนี้ เขาถึงจะเพิ่มคะแนนให้ ถ้าเรารู้ check-list นี้ได้ แล้วไม่ลืม คะแนนสูงๆ นี่ได้ไม่ยากบอกเลย และที่เราว่าหินที่สุดสำหรับเรา นั่นก็คือ Writing แกรมม่านี่แหละ ที่เราต้องคุกเข่าร้องขอชีวิต … แต่ก็อีกนั่นแหละ ถ้าไปติวมา ก็จะรู้ pattern ในการเขียน ไม่ต้องไปนั่งด้นสดในห้องสอบให้เสียเวลา
ไม่ว่าจะเรียนอินเตอร์มาจากไหน ยังไงก็แนะนำให้ไปเรียน IELTS สักคอร์ส เพราะมันไม่ใช่แค่เรื่องของความแม่นภาษา แต่มันมีเรื่องของ pattern และทริคในการทำข้อสอบให้ไว ให้โดนคะแนนด้วย
หลังจากได้คะแนน IELTS ที่พอใจมากอดแล้ว ต่อมาก็มาเริ่มเขียน SoP หรือ Statement of Purpose ซึ่งแปลเป็นไทยได้ง่ายๆ ว่า “จดหมายแนะนำตัว” นั่นเอง หลักๆ ก็บอกเขาไปว่า ทำไมเราถึงสนใจสมัครคอร์สนี้ (ถ้าบอกได้ด้วยว่าทำไมต้องมหาลัยนี้ด้วยก็จะดีมาก งานอวยอย่างชาญฉลาดต้องมา) ตอน ป.ตรี เราเรียนอะไรมาบ้างที่เกี่ยวข้องกับวิชานี้ เกรดเราเป็นยังไง ได้เกียรตินิยมรึเปล่า ถ้าได้ ใส่ไปเลย วิทยนิพนธ์เคยทำเรื่องอะไร แรงบันดาลใจที่ทำให้มาเรียนสาขาวิชานี้ เป้าหมายในการทำงานหลังเรียนจบ ประสบการณ์การทำงาน หรือว่ารางวัลในขณะทำงาน/เรียน ที่เคยได้รับ ตัวเองมีอะไร ขายไปให้้หมด เรียบเรียงดีๆ เอาให้คนนู้นคนนี้ช่วยได้ ให้พี่ที่ Hands On ช่วยดูก็ได้เหมือนกัน ค่อยๆ เขียน แล้วส่งไป
หลังจากนั้นก็ไปตามล่าจดหมาย Recommendation จากอาจารย์หรือหัวหน้างาน 1-2 ฉบับแล้วแต่กำหนดของแต่ละมหาวิทยาลัย อย่างเราโดนไปสอง เราก็ขอทั้งอาจารย์และหัวหน้างานของเรา เลือกคนที่ดูมีน้ำหนัก น่าเชื่อถือหน่อยๆ ตำแหน่งงานคือสิ่งที่ทำให้จดหมายของเรามีน้ำหนัก และที่สำคัญคือเขาเหล่านั้นต้องมีความเกี่ยวข้องกับเราด้วย อย่างของเราเลือกเป็นคณบดี กับ CEO ของบริษัท โดยปกติแล้วเวลาไปขอให้ผู้ใหญ่เขียน Recommendation ให้ เขาจะให้เราร่างไปให้ว่าอยากให้พูดถึงเราประมาณไหน ทั้งนี้ทั้งนั้นขึ้นอยู่กับระดับความสนิท ซึ่งโชคดีที่ค่อนข้างสนิทกับผู้ใหญ่ทั้งนั้นสองท่าน เลยทำให้ขอได้อย่างรวดเร็วราบรื่น
ส่วนเอกสารที่เหลือก็จะเป็นพวกใบจบ ใบรับรองนู่นนี่นั่น ซึ่งแล้วแต่ละมหาวิทยาลัยจะขอมา ซึ่งนั่นไม่ยาก และเมื่อเราขอครบแล้ว ที่เหลือก็แค่เข้าไปสมัครในเว็บไซต์ของมหาวิทยาลัยนั้นๆ ซึ่งมาถึงขั้นตอนนี้แล้ว ใครจะใคร่ทำเองก็ได้เช่นกัน หรือใครจะใคร่ใช้บริการจาก Hands On แบบเรา ก็ง่ายดีเหมือนกัน เพราะว่าพี่เขาจะช่วยเราติดต่อกับทางมหาวิทยาลัยได้โดยตรง เผื่อมีปัญหาอะไรแบบนี้ ที่สำคัญคือพี่ๆ เขาบริการฟรีจ้า ตอบไวทันใจ สมัครไปไม่มีพลาด
ใครว่าเรียนต่อนอกเป็นเรื่องยาก แค่เรามีข้อมูลที่พร้อม เตรียมตัวดีๆ ตั้งแต่วันนี้ ไม่กี่อึดใจ ก็ได้โกอินเตอร์แน่นอน Good Bye! See you in UK
ศิเก็บภาพบรรยากาศใน UK มาฝากเพื่อนๆ กันพอกรุบกริบนะคะ
สนใจเรียนต่อ University of Reading ลงทะเบียนเพื่อรับข้อมูลเรียนต่อและคำปรึกษาจากพี่ๆ Hands On ตัวแทนมหาวิทยาลัยอย่างเป็นทางการประจำประเทศไทย ฟรี คลิก