Hands On Education Consultants

1st Generation of Edinburgh’s MSc Entrepreneurship & Innovation: เทอมสองของเหล่าหนูทดลองหลักสูตรใหม่เอี่ยม

สวัสดีค่ะทุกคน เราตาณนะคะ อย่างที่สัญญาไว้ในบล็อกครั้งก่อนว่าจะมาแฉ เอ่อ เล่าเรื่องราวการเรียนการศึกษาที่ The University of Edinburgh Business School สาขา MSc Entrepreneurship & Innovation กันต่อในบล็อกนี้ ซึ่งจะกล่าวถึงไฮไลท์ในเทอม 2 ว่ามีอะไรทรหดยิ่งกว่าเทอมหนึ่งมั่ง สำหรับใครที่ยังไม่เคยอ่านเทอมหนึ่งก็คลิกได้ตามลิ้งก์นี้เลยค่ะ คลิก

(มองจาก Business School ก็จะเจอบูธขายอาหารเล็กๆ และตึกคณะอื่น สวน George Square ก็จะอยู่ซ้ายมือ)

โอเค เรามาเริ่มชำแหละเนื้อหาเทอมสองกัน

สำหรับโครงสร้างโดยรวมของเทอมสอง ส่วนที่เหมือนกับเทอมหนึ่งคือพวกเรายังต้องเรียนสี่วิชาเหมือนเดิม แต่ที่ต่างออกไปคือมีวิชาบังคับแค่ 2วิชา นั่นก็คือ วิชาบริหารนวัตกรรมเชิงปฏิบัติ (Innovation Management in Practice) และ วิชาการบริหารและการเติบโตของกิจการเชิงปฏิบัติ (Venture Management & Growth in Practice)… รู้สึกคุ้นๆ ชื่อมั้ย ใช่ฮะ…มันคือวิชาภาคต่อจากสองวิชาของเทอมที่แล้วนั่นแหละ ซึ่งสองวิชานี้มีโปรเจ็กต์หินอย่างการให้คำปรึกษาบริษัทมาเป็นใจกลางของวิชา…แปลง่ายๆ ว่านั่งทำอิโปรเจ็กต์นี้ทั้งเทอมนั่นแหละ ไม่มีงานอ่งงานอื่นในวิชาเลย

ส่วนอีกสองวิชานั้นเราสามารถเลือกได้จากสามวิชาที่เขาเสนอมาให้ อันได้แก่วิชาการบริหารอย่างผู้ประกอบการและความเป็นผู้นำ (Entrepreneurial Management & Leadership) วิชาการพาณิชย์เทคโนโลยีและระบบนิเวศของผู้ประกอบการ (Technology Commercialization & Entrepreneurial Ecosystem) และวิชาคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking) (//หอบแป๊บ กว่าจะพิมพ์และแปลชื่อวิชาหมด) ให้ทายว่าเพื่อนๆ ส่วนใหญ่เลือกวิชาไหนเป็นที่แน่ๆ

Design Thinking นั่นเองฮะ ซึ่งเป็นที่เข้าใจได้เพราะเด็กเรียนธุรกิจก็อยากได้อะไรแปลกๆ ใหม่ๆ มั่งใช่ปะ ยิ่งวิธีการนำเสนอคลาสของอาจารย์นั้นกระแทกใจกว่าคลาสอื่นมากๆ คลาสนี้เลยชนะใจนักเรียนไปถึง 31 ใน 34 คน

…และข้าน้อยก็เป็นหนึ่งในสามคนที่ไม่เข้าพวกนั่น

ตอนแรกเราก็มองๆ คลาสนี้อยู่แหละเพราะเนื้อหาน่าสนใจบวกกับอาจารย์คุยสนุก แต่สุดท้ายก็ไม่ได้เลือกเพราะจำได้ว่าเคยมีประสบการณ์แย่ๆ กับวิชาดีไซน์สมัยเรียนมัธยมกับปริญญาตรีมาก่อน (โอเค ไม่ได้แย่ขนาดนั้น แต่เป็นเครื่องเตือนใจว่าสมองเอ็งไม่เหมาะกับงานติสต์ ทำชิวๆ ได้แต่อย่าไปเรียนจริงจัง) อีกเหตุผลคือวิชานี้ส่งงานช้ามากกก ห่างจากวิชาก่อนสุดท้ายตั้งสองสัปดาห์แน่ะ เราเป็นพวกชอบให้งานทั้งหมดเสร็จไวๆ ไง อยากหยุดเร็วๆ ไปเที่ยวเร็วๆ เป็นโรคอิจฉาตาร้อนหากเห็นใครได้พักก่อนตัวเอง

ซึ่งในที่สุดแล้วเราก็ได้หยุดเร็วกว่าชาวบ้านจริงๆ นั่นแหละ แต่ระหว่างเทอมก็จะเจองานชนกันบ่อยกว่า ด้วยความที่สองวิชาแรกมันจบเร็วกว่า งานก็เลยถูกยัดๆ มาให้อยู่ในระหว่างเทอมแหละนะ

(ห้องเรียน Design Thinking อยู่ที่ตึกคณะศิลปศาสตร์ละ เราเคยแวบไปลองเรียนอยู่ครั้งสองครั้ง)

รูปแบบของงานก็จะเหมือนกับเทอมหนึ่งเลยค่ะ นั่นก็คือเรียงความเดี่ยว เรียงความกลุ่ม พรีเซ้นต์งาน มันไม่แปลกใหม่อีกต่อไปแล้ว อาเมน… ที่ต่างกันไปคือเนื้อหาของแต่ละงาน เช่นงานวิชาเทคโนโลยีก็จะพีคตรงที่เราต้องทำแผนธุรกิจสร้างสินค้าที่ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี Li-Fi (เคยได้ยินมั้ย เล่นเน็ตผ่านแสงไฟอะ เทคโนโลยีนี้มหา’ลัยนี้เป็นผู้สร้างละ //ตบมือแปะภูมิใจ) แล้วก็ต้องเอาไปเสนอกับศาสตราจารย์ผู้คิดค้น Li-Fi…ฟังดูยิ่งใหญ่รางวัลโนเบล

เอ้อ เกือบลืม ปีการศึกษาที่จะถึงนี้ (2017/18) เค้าเพิ่มจำนวนวิชาเลือกแล้วละ (อะไรๆ มักจะดีขึ้นหลังรุ่นของเรา กระซิก)

ถ้าให้เลือกหนึ่งงานที่สามารถแสดงความเป็นเทอม 2 มากที่สุด เราว่าก็คงเป็นงานนี้แหละ อย่างที่บอกไปตอนต้นว่าแค่อิงานนี้งานเดียว (สำหรับสองวิชานะ) ก็เอาเวลาไปทั้งเทอมแล้ว งานอื่นจากวิชาอื่นเลยถูกเลื่อนลำดับความสำคัญลงไปซะอย่างนั้น

สำหรับงานนี้ กลุ่มจะถูกจัดโดยทางโรงเรียน (ตามเคย) ที่ดีหน่อยคือคราวนี้เราสามารถแสดงสิทธิ์เสียงในการเลือกบริษัทที่อยากร่วมงาน 3 อันดับด้วยได้ ถึงอย่างนั้นทางโรงเรียนก็ต้องตัดสินกลุ่มตามความเหมาะสมอีกที เพราะไม่งั้นอาจเจอปัญหาว่าบางกลุ่มคนเยอะน้อยไม่บาลานซ์กันไรงี้ นั่นก็หมายความว่า…ต้องมีคนอกหักกับบริษัทตัวเองกันบ้างแหละ ส่วนเรานั้นได้บริษัทที่เราเลือกเป็นอันดับหนึ่งทั้งสองงาน ถือว่าโชคดีมากๆ

รูปแบบของโปรเจ็กต์ก็คือกลุ่มนักเรียนจะต้องติดต่อตกลงนู่นนี่นั่นกับลูกค้าเอง เริ่มจากจุดประสงค์และขอบเขตของงานผ่านเอกสาร ToR (Term of Reference) จากนั้นก็เริ่มงานแล้วอัพเดตลูกค้าเรื่อยๆ ท้ายโปรเจ็กต์ก็ต้องพรีเซ้นต์ต่อหน้าลูกค้ากับอาจารย์ รวมถึงเขียนรายงานกลุ่มและรายงานเดี่ยวสะท้อนสิ่งที่ได้เรียนรู้จากโปรเจ็กต์

สิ่งเหล่านี้คืออะไรที่มันมาแน่นอน คาดเดาได้ ยังไงก็ต้องผ่านต้องเจอ แต่แล้วทีนี้เราก็ต้องเจอตัวแปรอันส่งผลต่อบรรยากาศของงานกลุ่ม ได้แก่

หนึ่ง – ลูกค้า หรือเจ้าของบริษัทที่เราให้คำปรึกษานั่นแหละ หลักๆ จะมีอยู่สองประเภทคือ 1) คนที่ตามติดทุกฝีเก้า มีอะไรต้องอัพเดต ชี้แนะแจะแจงทุกดีเทล นัดเจอสัปดาห์ละครั้งหรือสองสัปดาห์ครั้งเป็นอย่างต่ำ และแสดงท่าทีกังวลอย่างเห็นได้ชัด ประมาณว่า ‘ฉันจะพึ่งเจ้าเด็กพวกนี้ได้มั้ย’ หรือ ‘พวกมันรู้มั้ยเนี่ยว่ากำลังทำอะไรอยู่’ และ 2) คนที่ค่อนข้างปล่อยเด็กให้ทำตามใจอยาก โทรไปก็ไม่ค่อยรับ ติดต่อไปก็ตอบช้า โชว์อะไรให้ดูแต่ละครั้งก็จะปรบมือตาเป็นประกายแล้วเชียร์ ‘ดีเลยๆ แบบนี้แหละ’

…ซึ่งเราเจอทั้งสองแบบ

เอาจริงๆ คือแต่ละประเภทก็มีดีอย่างเสียอย่างแหละ และลูกค้าเราทั้งคู่ก็ถือว่าจัดอยู่ในเกณฑ์ใจดี อย่างคนแรกที่แลดูพารานอยด์หน่อยๆ ช่วงแรก ก็เป็นเพราะเขาไม่เคยทำงานกับกลุ่มนักเรียนมาก่อน และเพราะความกังวลที่ล้นเหลือ เขาเลยอธิบายแนวคิดบริษัทตัวเองอย่างชัดเจน ให้คำแนะนำกับทุกเรื่องที่เราสงสัย รู้ทุกสเต็ปของโปรเจ็กต์ว่ากำลังไปทางไหน ดังนั้นจึงเป็นเรื่องยากมากกกกที่สุดท้ายแล้วโปรเจ็กต์จะไม่สมใจลูกค้า (ก็ลูกค้าเล่นกำกับเอง) จำได้ว่าตอนพรีเซ้นต์ครั้งสุดท้าย กลุ่มเราคลายกังวลไปเยอะเพราะลูกค้ารู้ทุกอย่างแล้ว มีแค่อาจารย์เท่านั้นที่เราต้องอธิบายโปรเจ็กต์ให้ฟัง ส่วนคนที่สองก็มีข้อดีตรงที่เขาเปิดกว้าง ให้อิสระในการตัดสินใจกับเรา เสนออะไรไปเขารับฟังทุกอย่าง และไม่ค่อยคาดหวังสูงเกิน (ฮา) อย่างตอนกลางเทอม กลุ่มเราเอางานไปพรีเซ้นต์เขา เขาตอบมาว่า ‘โอ้ นี่คือสิ่งที่ฉันคาดหวังว่าจะได้รับตอนจบเทอม’ อือหือ…นี่ถ้าบ้าจี้ตามก็จะจบโปรเจ็กต์เอาซะกลางเทอมให้สมใจนางไปแล้ว

สอง – เพื่อนร่วมทีม แหม เขียนอย่างนี้เหมือนจะเป็นการเม้าท์ แต่เป็นเรื่องที่ไม่คุยไม่ได้จริงๆ ตัวแปรนี้ก็มีสองประเภทหลักเหมือนกันคือ 1) กลุ่มที่นัดเจอกันนานๆ ทีเมื่อมีเรื่องใหญ่ต้องคุยตกลงกัน ส่วนใหญ่จะเป็นการแยกไปทำงานส่วนของตัวเองและคุยออนไลน์มากกว่า กลุ่มนี้จะต้องมีคนสตรองอย่างน้อยหนึ่งคนเป็นศูนย์กลางกำกับทุกอย่าง กับ 2) กลุ่มที่นัดเจอถี่ๆ เพื่อมาทำงานพร้อมกัน ขอให้ได้เจอหน้ากัน หัวใจก็พร้อมกระชุ่มกระชวยทำงานต่อ โต้รุ่งก็ต้องอยู่ด้วยกันนะ ไม่งั้นถือว่าโนสปิริต

อีกครั้ง…เจอทั้งสองแบบเลย ความจริงก็เจอตั้งแต่เทอมที่แล้วแล้วละ แต่มันมาชัดเจนเทอมนี้

(คืนก่อนโต้รุ่ง เสบียงพร้อม และหน้ายังยิ้มออก)

(อยู่ดึกๆ ก็จะเจอสภาพคาเฟ่โรงเรียนโล่งเตียนแบบนี้แหละ)

 

นั่นละ ข้อดีข้อเสียของแต่ละสไตล์ก็ขึ้นอยู่กับว่าเราชอบทำงานแบบไหน ถึงอย่างนั้น นอกจากการสไตล์การทำงานแล้ว อีกอย่างที่เราว่าสำคัญมากคือทัศนคติและนิสัยของคนในกลุ่ม คือถ้าทุกคนโอเค ให้กำลังใจกัน เชียร์กัน รับฟังกัน ไม่กดดันกัน ไม่อู้งาน มันจะเป็นบรรยากาศที่ดีมากเลยละ

 

นี่คือสิ่งที่ไม่ได้เกิดขึ้นในเทอมสองซะทีเดียว แต่ต้องเรียกว่าเป็นติ่งของเทอมสองซะมากกว่า เพราะทริปจัดหลังส่งงานทุกชิ้นเรียบร้อยแล้ว ถึงอย่างงั้นก็เหอะ เราว่าเกือบทุกคนเพ้อถึงทริปลอนดอนมาตลอดทั้งเทอม ราวกับว่ามันคือแสงสว่างปลายอุโมงค์อันหอมหวาน คือผ้าชุบน้ำเย็นๆ หลังวิ่งมาราธอน กระตุ้นให้เรามีกำลังใจทำงานระหว่างเทอมยังไงยังงั้น

เห่อแค่ไหนคิดดู ถึงขั้นจองร้านอาหารกับทัวร์แฮร์รี่พ็อตเตอร์ข้ามเดือนกันเลยทีเดียว

ทริปลอนดอนนี่ก็โรงเรียนใจป้ำจัดอีกนั่นแหละ โดยโรงเรียนจะมี budget ให้สำหรับค่าโรงแรมหนึ่งคืน ค่าเดินทางไปกลับ และค่าใช้จ่ายจิปาถะต่างๆ (ยกเว้นแอลกอฮอล์นาจา) จุดประสงค์คืออยากพานักเรียนไปเปิดหูเปิดตา เยี่ยมชมการทำงานขององค์กรหรือบริษัทที่นักเรียนสนใจ เปิดโหวตกันตั้งแต่ต้นเทอมสองเลยว่าอยากไปไหน ผลสุดท้ายก็ลงเอยกันที่ 4 จุดหมายโดยมีสองบริษัทเป็นธุรกิจเล็กๆ เพิ่งสร้างใหม่ กับอีกสององค์กรใหญ่นั่นคือ Google กับ Amazon ซึ่งพวกเราก็ได้เข้าไปชมออฟฟิศ รวมถึงพบปะพูดคุยกับคนทำงานที่นั่น เอาจริงๆ แค่ได้เข้าไปเหยียบออฟฟิศกูเกิ้ลก็รู้สึกราวกับประสบความสำเร็จในชีวิตไปหนึ่งอย่างแล้วละฮะ ใครบ้างละไม่ฝันอยากมาเห็นออฟฟิศกูเกิ้ลของจริง แม้จะไม่ใช่สาขาแม่แต่แค่นี้ก็อลังแล้ว (โซนทำงานร้อยแปดพันเก้า ห้องสมุด โรงอาหาร ฟิตเนส…งึมงำๆ)

 

(เสียดายกูเกิ้ลไม่ให้ถ่ายรูปออฟฟิศอะ เลยได้แค่บัตร visitor มาอวด)

การได้มาเห็นบรรยากาศการทำงานในบริษัทท็อปของโลกนี่มันขลังจริงๆ ละ รู้สึกเหมือนก้าวเข้ามาในเขตแดนที่เราไม่เคยสัมผัสมาก่อน ผู้คนแลดูเอาจริงเอาจังแต่ขณะเดียวกันก็ยังเป็นกันเอง พอไปเยี่ยมบริษัทเล็กๆ เราก็ได้อีกบรรยากาศหนึ่ง มวลอากาศเบาลง มีความติดดินขึ้น ได้ตั้งวงสนทนาใกล้ชิดกับผู้ประกอบการ ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลนี้เราว่าโรงเรียนก็บาลานซ์ได้ดีนะ ที่จัดให้เราได้ไปสอดส่องทั้งบริษัทเล็กใหญ่ เหมือนเป็นการย้ำกลายๆ ว่าโอกาสมันมีอยู่ทุกรูปแบบแหละ

(มุมต้อนรับหน้าออฟฟิศ Amazon)

(มุมเครื่องดื่มของบริษัท Escape the City หนึ่งในบริษัทสตาร์ตอัพที่เราแวะไปเยี่ยม เห็นแล้วอยากเนียนเป็นพนักงาน)

 

เบ็ดเสร็จแล้วกิจกรรมในลอนดอนที่เราต้องไปกับโรงเรียนดำเนินอยู่ 2 วัน แต่ถ้าถามว่าเราอยู่ลอนดอนกันกี่วัน…หึหึหึ ฝันไปเถอะว่าจะอยู่แค่สองวัน

และนี่ก็คือโอกาสพักร้อนของพวกเรานั่นเอง

ส่งท้าย

และแล้วเทอมสองก็จบไป แต่งานยังไม่จบฮะ… เพราะเรายังเหลือวิทยานิพนธ์หรือ Dissertation เป็นงานไฟนอลที่กำหนดส่งปลายเดือนสิงหาคม ซึ่ง ณ ตอนนี้ก็เพิ่งเริ่มต้นแหละ และก็ได้แต่หวังว่ามันจะไม่หนักหนาสาหัสจนเกินไป (อย่างน้อยตอนนี้ก็ได้ประมาณ 2,500 คำจาก 15,000 คำแล้วนะ เย่ #พยายามดีใจ) คาดว่าช่วง 3-4 เดือนนี้ก็คงตะลอนๆ อยู่ในเอดินบะระนี่ละ และเนื่องจากวิทยานิพนธ์ของเราต้องมีการพบปะพูดคุยกับทางคาเฟ่ ร้านอาหารแนวสุขภาพ บล็อกต่อไปของเราจะรวบรวมร้านคาเฟ่สายคลีนๆ ในเมืองนี้มาให้หิวกันเล่นๆ (เอาจริงๆ ไม่ต้องรอวิทยานิพนธ์หรอก ตอนนี้ก็โดนไปหลายร้านละ)

สนใจเรียนต่อ University of Edinburgh ลงทะเบียนเพื่อรับข้อมูลเรียนต่อและคำปรึกษาจากพี่ๆ Hands On ตัวแทนมหาวิทยาลัยอย่างเป็นทางการประจำประเทศไทย ฟรี คลิก