แนะนำตัวเอง
สวัสดีครับ ชื่อโตสครับ เรียนคอร์ส MSc Economics ที่ University of Warwick ปี 2022/23 ครับ
ก่อนจะไปเรียน ทำอะไรที่ไหนมาบ้าง ลองเล่าให้ฟังหน่อย
ครับ หลังจากเรียนจบป.ตรี ผมก็เข้าทำงานในหน่วยงานราชการที่ทำเรื่องเกี่ยวกับข้อมูล โดยผมจะอยู่ในส่วนที่ดูข้อมูลทางด้านเศรษฐกิจ ทำมาได้ประมาณ 1 ปีกว่า แล้วถึงจะไปเรียนต่อครับ
ทำไมเลือกเรียนคอร์สนี้
ส่วนตัวชอบและสนใจใน Economics อยู่แล้วตั้งแต่ตอนเรียน ป.ตรี บวกกับตอนทำงานต้องใช้ความรู้และเครื่องมือในการวิเคราะห์ทางด้านนี้ด้วย เลยเลือกที่จะเรียนต่อในคอร์สนี้ครับ ส่วนทำไมถึงเลือก The University of Warwick เพราะว่า Ranking ของมหาลัยในด้านเศรษฐศาสตร์อยู่ในอันดับที่ดีมากครับ ทั้งในประเทศอังกฤษและในระดับโลก อีกเหตุผลคือชอบบรรยากาศของมหาวิทยาลัย ที่มีความสงบ และมีความ Green สูง ซึ่งคิดว่าช่วยให้ผ่อนคลายมาก ๆ ตอนที่ต้องใช้สมองหรือความคิดในการเรียนครับ
MSc Economics ที่ The University of Warwick เรียนเกี่ยวกับอะไร เน้นอะไรบ้าง
คงจะต้องตอบว่าตามชื่อคอร์สเลยครับ (หัวเราะ) คือเน้นเรียนเศรษฐศาสตร์ ทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์และเครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์ที่ใช้ในการวิเคราะห์เรื่องต่าง ๆ ซึ่งต้องบอกว่าแตกต่างจากตอนเรียนป.ตรีค่อนข้างมาก ถึงแม้ชื่อวิชาจะเหมือนกัน แต่เนื้อหาที่เรียนคือทั้งยากขึ้นและลึกขึ้น และที่มีคนชอบแซวกันว่าเรียนเศรษฐศาสตร์คือการเรียนวาดกราฟ ถ้ามาเรียนคอร์สนี้จะพบว่าไม่มีกราฟให้เห็นเลย เป็นการใช้คณิตศาสตร์และสถิติมาอธิบายแทน ถ้าใครมาเรียนแล้วไม่ชอบตัวเลขอาจจะต้องทำใจ เพราะเยอะจริง ๆ ครับ
รีวิววิชาที่เรียนในคอร์สหน่อย
Pre-Term
จากที่เกริ่นไปครับว่าคอร์สนี้ต้องใช้เครื่องมือทางคณิตศาสตร์และสถิติในการเรียน วิชาแรกที่เรียนตั้งแต่ก่อนเปิดเทอมเลยก็คือ Introductory Maths and Stats เป็นเหมือนการทบทวนความรู้ก่อนเปิดเรียนจริง ประมาณ 2 สัปดาห์ ก็จะมีการเรียนตั้งแต่ Calculus, Linear Algebra, Probability ไปจนถึง Hypothesis Testing ถือว่าได้ปัดฝุ่นสิ่งที่เคยรู้มาก่อนจะเริ่มเรียนใหม่ครับ และคิดว่าช่วยได้มากในการนำไปใช้ในตอนเรียน (ถึงแม้เนื้อหาจะอัดมาก ภายในระยะเวลาแค่ 2 อาทิตย์)
Term 1
คอร์สนี้โดยหลักแล้ว จะแบ่งเป็น 3 เทอมครับ เทอมแรกหรือเรียกว่า Autumn Term ในช่วงนี้เราจะเรียนวิชาหลัก (Core Module) 3 ตัว คือ Microeconomics, Macroeconomics, และ Econometrics โดยความพิเศษของที่นี่คือเราสามารถเลือกเรียนวิชาหลักได้ 2 Level ครับ คือ A และ B ถ้าเป็นระดับ A จะเป็นการเรียนพื้นฐานและเน้นประยุกต์ใช้เนื้อหาที่เรียน อาจจะคิดง่าย ๆ ว่าเป็นการเรียนทบทวนและเพิ่มเติมจากเนื้อหาที่เคยเรียนตอนป.ตรี ในระดับนึง ส่วนถ้าเป็นระดับ B อันนี้เปรียบเทียบได้กับการเรียนขั้น Advanced เลยละครับ โดยทางคอร์สเองก็แนะนำว่ามีไว้สำหรับคนที่มีพื้นฐานมาแน่นพอสมควร และถ้านักเรียนคนไหนอยากเลือกเป็นระดับ B อาจจะต้องส่ง Transcript ที่เคยเรียนมาให้ทางคณะพิจารณาก่อนด้วย ถึงจะอนุญาตให้เรียน อ่อ…เกือบลืมบอกไปว่าในการเลือกระดับ สามารถคละกันได้ใน 3 วิชาหลัก คือจะเลือกตัวไหนเป็น A หรือ B ก็ได้ แล้วแต่เราเลย ส่วนตัวผมเลือกเรียน Microeconomics และ Econometrics เป็น A ส่วน Macroeconomics เป็น B ครับ
Term 2
เทอมที่ 2 หรือ Spring Term จะมีวิชาที่เรียนต่อเนื่องจาก Autumn Term 1 ตัว คือ Econometrics และเราจะต้องเลือกวิชาเลือก 3 ตัวครับ (Optional Module) วิชาเลือกที่มีให้ก็หลากหลายมาก ประมาณ 15 วิชา ซึ่งเขาก็ออกแบบมาให้ครอบคลุมกับความต้องการของนักเรียน ที่แต่ละคนอาจจะมีความสนใจในเรื่องที่แตกต่างกันไปครับ มีวิชาอย่างเช่น Behavioural Economics, Health Economics, Investment and the Financial System, Applications of Data Science เป็นต้น โดยในตอนแรกผมก็มีความลังเลว่าจะเลือกวิชาไหนดี เพราะสนใจในหลายตัวเลย ซึ่งก็ไม่ได้เกิดขึ้นแค่กับผมคนเดียว เพื่อนหลาย ๆ คนก็เจอปัญหาเดียวกัน ทางคณะก็ยืดหยุ่นมากในเรื่องนี้ครับ เขามีช่วงที่ให้เราเข้าไปทดลองเรียนก่อนได้ในอาทิตย์แรก ถ้าชอบหรือไม่ชอบ อยากเปลี่ยนวิชาเลือก ก็สามารถทำได้เลย และสุดท้าย (หลังจากคิดอยู่นาน) วิชาที่ผมเลือกจะเป็น Monetary Economics, Applied Macroeconomics, และ Applications of Data Science ถ้าถามว่าเลือกจากอะไร แน่นอนครับว่าเป็นความสนใจส่วนตัวและความรู้ที่คิดว่าจะได้ อีกข้อคือเลือกจากวิธีการประเมินผล ส่วนตัวไม่ชอบวิชาที่ให้ทำงานเยอะ ๆ (หัวเราะ) เลยเลือกวิชาที่เน้นเป็นการสอบวัดผลแทน
Term 3
ส่วนในเทอมสุดท้าย หรือ Summer Term เป็นช่วงของการทำ Dissertation และจะไม่มีการเรียนในห้องเกิดขึ้นแล้ว โดยคอร์สนี้ให้อิสระในการเลือกหัวข้อวิจัยได้ตามสนใจเลย ผมว่ามันก็มีทั้งข้อดีและข้อเสียนะครับ ข้อดีคือมันยืดหยุ่นเต็มที่ ส่วนข้อเสียก็คือความยากในการคิดหัวข้อนี่แหละ คือคิดมาแล้วจะเหมาะสมไหม ทำได้ไหม แต่ก่อนอื่นเลยทางคณะจะให้ลิสต์รายชื่ออาจารย์ที่ปรึกษามาครับ ว่าแต่ละท่านมีความถนัดในเรื่องอะไร นักเรียนเองก็จะต้องเข้าไปคุยกับอาจารย์ท่านที่เราเล็งไว้ เพื่อขอให้เป็นที่ปรึกษาในงานที่จะทำ ซึ่งที่ปรึกษานี่แหละจะเป็นผู้ชี้ทางสว่างให้เรา และให้คำปรึกษาตลอดโปรเจกต์เลยครับ มากไปกว่านั้นคือท่านจะยังเป็นผู้ตรวจและให้คะแนน Dissertation ของเราอีกด้วย ซึ่งงานนี้ตาดีได้ตาร้ายเสียนะ (หัวเราะ) สำหรับผมมีความสนใจที่จะทำเรื่องเกี่ยวกับ Consumption ใน DSGE model (ใครเป็นนักเรียนเศรษฐศาสตร์ผ่านมาอ่าน ต้องคุ้นอยู่บ้างแหละ) เลยไปติดต่อกับอาจารย์ที่เชี่ยวชาญเรื่องแนวนี้ และท่านก็ตอบรับเป็นที่ปรึกษาเรียบร้อย แต่แล้วโปรเจกต์นี้ก็ต้องจบไป ด้วยเหตุผลอะไร เดี๋ยวจะขอมาเล่าต่อครับ…
*สนใจสอบถามข้อมูลเรียนต่อ The University of Warwick ปรึกษาพี่ Hands On ฟรี
เนื้อหาวิชาที่ชอบระหว่างการเรียนคอร์ส MSc Economics ที่ University of Warwick
ถ้าตอบว่าชอบทุกวิชา จะดูเกินไปไหม (หัวเราะ) แต่ก็คือเรื่องจริงเลยครับ เพราะรู้สึกสนุกกับทุกวิชาที่ได้เรียน เข้าใจบ้างไม่เข้าใจบ้างถือเป็นเรื่องปกติ แต่ถ้าจะให้เล่ารายละเอียดในทุกวิชาคงจะเล่าไม่จบ เอาเป็นว่าจะเลือกวิชาที่ชอบจริง ๆ มาละกันครับ
1. Monetary Economics
วิชานี้เปรียบเสมือนเป็นวิชาที่เรียนต่อจาก Macroeconomics B ครับ โดยหลังจากที่เราได้เรียน Dynamics Model และ Real Business Cycle (RBC) มาแล้วในเทอมแรก เนื้อหาในวิชานี้จะโฟกัสไปที่เรื่องนโยบายการเงิน โดยเป็นการต่อยอดโมเดลจาก RBC ไปเป็น New Keynesian DSGE Model ซึ่งเป็นเครื่องมือพื้นฐานที่ใช้วิเคราะห์เศรษฐกิจกันในโลกปัจจุบันครับ ความสนุกของวิชานี้นอกจากจะได้เรียนเนื้อหาที่เข้มข้นแล้ว ยังมีการให้ลองสร้างแบบจำลองขึ้นมาวิเคราะห์กันจริง ๆ อีกด้วย โดยอาจารย์ก็ได้ยกเคสที่ทันสมัยมากมาให้ลองทำกันครับ คือเขาอยากให้เราทำซ้ำ (Replication) แบบจำลองที่ทางธนาคารกลางสหรัฐพึ่งจะตีพิมพ์เผยแพร่ไปไม่นาน และลองเปลี่ยนค่าพารามิเตอร์ต่าง ๆ เพื่อดูผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อตัวแปรในระบบเศรษฐกิจ และหาแนวทางที่เหมาะสมสำหรับนโยบายการเงินที่จะต้องตอบสนองต่อสถานการณ์นั้น ๆ เป็นวิชาที่ทั้งท้าทายและได้ความรู้อย่างมากครับ
2. Applications of Data Science
วิชาที่ชอบต่อมาคือวิชานี้เลยครับ ชื่ออาจจะฟังดูยาก ไม่คุ้นสำหรับคนเรียนเศรษฐศาสตร์สักเท่าไหร่ แต่เป็นวิชาที่เปิดโลกมาก เพราะได้เรียนเครื่องมือทางสถิติ ที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับเศรษฐศาสตร์ได้เป็นอย่างดีครับ เนื้อหาอาจจะอัดแน่นนิดหน่อย แต่อาจารย์ก็ค่อย ๆ สอนจนเข้าใจ โดยวิชานี้จะเริ่มตั้งแต่การปูพื้นฐานทาง Data Science เช่นคอนเซ็ปต์ของ Statistical Learning, Bias-Variance Tradeoff ต่อด้วยการเรียน Prediction เช่น Linear Regression, Model Selection, Shrinkage, และ Regression Trees ที่เราคุ้นเคย และยังมีในเรื่อง Classification โดยใช้ Naive Bayes, Nearest Neighbours, หรือ Support Vector Machine เป็นต้น ต้องบอกไว้ก่อนว่าชื่อวิชาอาจจะทำให้คิดว่าต้องเน้นเรียน Coding เยอะแน่ ๆ ซึ่งก็อาจจะมีบ้างครับ เป็นตัวอย่างที่อาจารย์ลองทำให้ดู แต่ที่สำคัญมากกว่าคือพื้นฐานที่ต้องมีก่อนการนำไปใช้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ได้จากวิชานี้เต็ม ๆ ครับ
3. Econometrics A
สำหรับวิชาเศรษฐมิติ อย่างที่เล่าไปว่ามีการเรียนต่อเนื่องใน 2 เทอม โดยแบ่งเนื้อหาวิชาเป็น 2 พาร์ทใหญ่ คือในเทอมแรกเราจะเน้นเรียนเครื่องมือที่ใช้ในงานเศรษฐศาสตร์และการประเมินผลของนโยบาย ยกตัวอย่างเช่น Randomized Controlled Trials (RCT), Instrumental Variables (IV), Difference-In-Differences (DiD) เป็นต้น ซึ่งอาจารย์เน้นเป็นการยกตัวอย่าง และเล่าให้ฟังถึงข้อดีข้อเสีย ข้อจำกัดในการใช้ เลยทำให้คนเรียนได้เข้าใจถึงเครื่องมือนั้น ๆ และนำไปใช้อย่างถูกต้อง ส่วนในเทอมต่อมา เนื้อหาจะโฟกัสไปที่เรื่องของการวิเคราะห์ Time Series และ Panel ครับ… รู้แค่ทฤษฎีแต่ถ้าไม่ลงมือทำจริง คงจะไร้ความหมายใช่ไหมครับ วิชานี้นอกจากเรียนในห้องเรียนปกติแล้ว ยังมีการสอน Coding ในคาบเรียน Seminar พร้อมกับมีโปรเจกต์ให้ทำโดยใช้สิ่งที่เรียนมาอีกด้วย เรียกได้ว่าพอเรียนจบแล้ว สามารถทำงานวิจัยดี ๆ ออกมาได้เลย
แชร์ประสบการณ์ทำ Project กับ UK Government ด้วย เป็นอย่างไรบ้าง
ครับ ขอเริ่มอย่างงี้ครับ คือทาง Warwick Department of Economics ได้มีการจัด Research Support Programme ร่วมกับหน่วยงานในรัฐบาลอังกฤษประมาณ 3 แห่ง คือ Bank of England (BOE), Department of Business and Trade (DBT), และ Competition Market Authority (CMA) ซึ่งให้โอกาสนักเรียน Master Degree ได้ทำงานวิจัย (Dissertation) ร่วมกับหน่วยงานข้างต้น โดยคนที่สนใจก็สามารถสมัครเข้ารับการคัดเลือกได้ครับ มีประมาณ 5 โปรเจกต์ สำหรับนักศึกษา 5 คน ซึ่งแต่ละโปรเจกต์ก็จะมีหัวข้อกำหนดไว้กว้าง ๆ ว่าอยากให้ทำงานวิจัยเรื่องอะไร ขอบเขตประมาณไหน และหลังจากที่ได้เห็นโปรแกรมอันนี้ ผมก็เลยลองสมัครไป จากตอนแรกที่อยากจะทำเรื่องที่ตัวเองคิดไว้ (เรื่อง Consumption ที่เล่าทิ้งไว้) แต่ผลออกมาว่าโดนเลือกให้ทำกับ DBT เลยต้องยอมทิ้งเรื่องนั้นไป
ถ้าจะให้สรุปสั้น ๆ สำหรับโปรเจกต์นี้คือ ทั้งสนุก ทั้งเครียด และท้าทายมากครับ เราต้องทำงานร่วมกับคนในหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญในหัวข้อวิจัยที่ได้รับ (หัวข้อในทาง International Trade) ซึ่งในระหว่างทำก็เจอปัญหาเยอะแยะมากมาย แต่ก็ได้คำแนะนำจากที่ปรึกษาทั้ง 4 ท่าน (อาจารย์ Warwick 1 ท่าน และจาก DBT 3 ท่าน) ทำให้ทำจนเสร็จมาได้ และมีโอกาสได้รับเชิญไปนำเสนอผลให้ทางนักวิจัยใน UK Government ฟังอีกด้วยครับ ถือว่าคุ้มค่ากับความเหนื่อยมาก ๆ !!!
*สนใจสอบถามข้อมูลเรียนต่อ The University of Warwick ปรึกษาพี่ Hands On ฟรี
บรรยากาศในห้องเรียนเด็ก Econ เป็นอย่างไรบ้าง คนเรียนเยอะไหมคะ?
โดยรวมก็ถือว่าดีเลยครับ มีนักเรียนมาจากหลากหลายประเทศ มานั่งเรียนด้วยกัน บางคนถนัดกันคนละเรื่อง ทำให้ห้องเรียนสนุก คลาสในเทอมแรกจะใหญ่หน่อย ประมาณเกือบ 200 คน เพราะจะเรียนรวมกับอีกสองคอร์ส คือ MSc Behavioural and Economic Science และ MSc Economics and International Financial Economics (หมายถึงห้องเรียนระดับ A นะครับ ถ้าเป็นระดับ B มีไม่ถึง 30 คน) ส่วนในเทอมสองที่เป็นวิชาเลือก อันนี้คลาสจะเล็กแล้วครับ ประมาณ 20 คน ส่วนตัวชอบแบบหลังมากกว่า เพราะเราจะได้ถกเถียงกับอาจารย์ได้เต็มที่ นอกจากนี้ยังมีคาบ Seminar สำหรับทำโจทย์หรือ Coding ประมาณสัปดาห์ละ 1 ชั่วโมงของแต่ละวิชาด้วยครับ
รีวิว Assignments, Midterm, Final
ส่วนใหญ่งานจะอยู่ในเทอมสองครับ เพราะเทอมแรกจะเน้นเป็นการสอบ ซึ่งจะมีทั้งแบบกลุ่มและเดี่ยว เช่นวิชา Econometrics จะเป็นโปรเจกต์กลุ่ม 3 คน ให้ทำเปเปอร์ 1 ชิ้น เก็บคะแนน 25% หรือวิชา Applied Macroeconomics มีงานเดี่ยว ให้วิจารณ์ (Criticize) งานวิจัย เก็บ 50% เป็นต้น
สำหรับการสอบที่นี่ จะยังเป็นแบบออนไลน์ 100% ไม่รู้ว่าโชคดีหรือโชคร้ายเหมือนกัน ส่วนนึงเพราะไม่ต้องเอาสมองไปเน้นเรื่องการจำ แต่ก็ต้องแลกด้วยความเข้มข้นและโจทย์แบบประยุกต์ครับ ส่วนสิ่งที่ชอบอย่างนึงของที่นี่คือ เขาจะมีช่วงเวลาว่างก่อนสอบประมาณ 4-5 สัปดาห์เลย ซึ่งเราสามารถแบ่งสำหรับใช้ในการเตรียมตัวสอบ (และเที่ยว) ได้ครับ
รีวิวเพื่อน ๆ ในคอร์ส Econ ที่ University of Warwick
เพื่อนในคลาสประมาณ 50% มาจากจีนและอินเดีย อีกครึ่งก็มีหลากหลายมากเลยครับ ทั้งคนอังกฤษเอง ฝรั่งเศส สเปน กรีซ ฯลฯ ส่วนคนไทยมีแค่ 2 คนถ้วนครับ สำหรับเพื่อนที่ผมสนิทจะเป็นคนจีน ญี่ปุ่น มาเลเซีย โดยรวมเพื่อนน่ารักมากครับ เราช่วยกันเรียนช่วยกันติว ไปกินไปเที่ยวด้วยกัน และสามารถพูดได้เต็มปากเลยว่าถ้าไม่มีเพื่อน คงเรียนไม่จบ และการไปอยู่ที่นั้น 1 ปี คงไม่สนุกเท่านี้ครับ ยกความดีความชอบให้เพื่อนทุกคนที่ได้รู้จักเลย (ยิ้ม)
รีวิวกิจกรรมและ Facilities ของคณะ
ตัวคณะจะไม่ใหญ่มากครับ ส่วนใหญ่จะใช้เป็นห้องพักอาจารย์และห้อง Study Room ซึ่งนักเรียนสามารถมาใช้ทำงานหรือประชุมกันได้ มี Café เล็ก ๆ มีห้องครัวไว้มานั่งทานอาหาร ห้องเรียนก็จะมีบ้างแต่รองรับได้แค่คลาสเล็ก ซึ่งถ้าเป็นคลาสใหญ่อาจจะต้องไปใช้ห้องเรียนรวมของมหาลัยแทน ประมาณนี้ครับ และถ้าเป็นในส่วนของการ Support ด้านการเรียนหรือปัญหาส่วนตัว ผมคิดว่าคณะเต็มที่มาก ๆ ใครมีเรื่องอะไร ก็สามารถติดต่อให้เขาช่วยได้ตลอดเวลาเลยครับ
กิจกรรมก็จะมีการจัดกินเลี้ยงในวันสำคัญต่าง ๆ ให้ เช่น วันปฐมนิเทศ วันคริสต์มาส มีการจัดแข่งขันกีฬา นอกจากนี้ยังมีงานของชาว Econ ที่นี่ ซึ่งยิ่งใหญ่มาก คือ Warwick Economics Summit จะเป็นงานที่จัดขึ้นทุกปี โดยจะเชิญบุคคลสำคัญมาพูด และปีผมก็โชคดีมากที่ได้ Nobel Prize มาเป็น Speaker ถึง 4 คนครับ
มีอะไรอยากบอกน้อง ๆ ที่มาเรียนต่อ MSc Economics ที่ University of Warwick บ้าง
ประสบการณ์ของแต่ละคนที่มาอาจจะแตกต่างกัน อาจจะบอกไม่ได้ว่าที่นี่จะดีที่สุดหรือเปล่า แต่สำหรับผมการได้มาเรียนที่นี่ 1 ปี ถือว่าเป็นประสบการณ์ที่คุ้มค่าที่สุดเลยครับ (ยิ้ม) สำหรับน้องคนไหนที่สนใจ สามารถติดต่อพี่ ๆ Hands On ได้เลยครับ รับรองเลยว่าพี่เขาดูแลอย่างดีตั้งแต่ต้นจนจบเลย