Hands On Education Consultants

Review คอร์สเรียนมหาวิทยาลัยดังอย่าง University of Edinburgh

1st Generation of Edinburgh’s MSc Entrepreneurship & Innovation: เทอมแรกของเหล่าหนูทดลองหลักสูตรใหม่เอี่ยม

สวัสดีทุกคนอีกครั้งนะคะ เราชื่อตาณ ตอนนี้เรียน MSc Entrepreneurship & Innovation ที่ The University of Edinburgh Business School ค่ะ 😀 เนื่องจากตอนนี้สองเทอมของเราได้ผ่านพ้นไปแล้ว (//จุดพลุ นี่ฉันรอดมาได้ยังไง) จึงถือโอกาสมาสรุปสักหน่อยว่าช่วงแปดเดือนที่ผ่านมานี้ เราเผชิญชะตากรรม เอ๊ย ได้ประสบการณ์อะไรจากหลักสูตรนี้มาบ้าง ด้วยความที่หลักสูตรนี้เปิดเป็นปีแรก เราเป็นหนึ่งในชนกลุ่มแรก (พรีวิเลจมั้ยล่ะเธอ) จึงอยากจะแชร์ประสบการณ์ฮะ เผื่อใครสนใจหลักสูตรนี้ปีหน้า

รูปก่อนเปิดเรียน ยังยิ้มออก หึหึ

เกริ่นคร่าวๆ ก่อนละกัน นี่คือหลักสูตรที่ผสมผสานความรู้สองด้านหลักๆ ตามชื่อหลักสูตรเลย นั่นคือด้านการเป็นผู้ประกอบการ เจ้าของกิจการ และการบริหารจัดการนวัตกรรม ไม่ว่าคุณจะสนใจเปิดธุรกิจเป็นของตัวเอง หรือหวังจะเข้าบริษัทที่มีส่วนในการพลิกโลก หรือตั้งใจจะสร้างธุรกิจพลิกโลกของตัวเอง (โลภค่ะ ควบสองเลย) หลักสูตรนี้ตอบสนองความต้องการเหล่านั้นด้วยการปูพื้นฐานความรู้ทั้งทฤษฎีและปฏิบัติ ที่ใจป้ำคือเขาเปิดรับนักเรียนจากทุกสาขาวิชาเลยนะ ดังนั้นในคลาสของเราก็จะมีความหลากหลายด้านสกิลของเด็กสุดๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านธุรกิจ เศรษฐศาสตร์ สังคม บัญชีการเงิน วิศวะ กราฟฟิกดีไซน์ ดนตรี…ร่ายมาเถอะ ไม่ว่าด้านไหนก็ต้องทำธุรกิจต้องมีนวัตกรรมทั้งนั้นแหละจริงป้ะ ดังนั้นเราว่าไม่แปลกหากหลักสูตรจะเปิดกว้างเด็กจากทุกสาขา

เสื้อฮู้ดดี้แปะตราโรงเรียนกับชื่อสาขา โรงเรียนแจกฮะ

เริ่มจากสิ่งที่ค้นพบหลังจบเทอมแรกก่อนเนอะ ขอสรุปลักษณะเด่นๆ ของคลาสเรียนสักหน่อย

  1. วิชา คณาจารย์ และบรรยากาศห้องเรียน

หลักสูตรนี้กินเวลา 1 ปีเต็ม โดยจะแบ่งออกเป็น 2 เทอมเรียน หลังจากนั้นช่วงซัมเมอร์ก็จะใช้สำหรับเขียนวิทยานิพนธ์ (Dissertation) ที่สามารถเลือกทำได้ 4 แบบ นั่นคือรีเสิร์ชแบบปกติ รายงานเกี่ยวกับบริษัทที่เลือก รายงานเพื่อสนับสนุนให้คำปรึกษาบริษัท และแผนธุรกิจ ซึ่งเราว่าดีนะที่เขาให้เราเลือกทำตามความสมัครใจ ยิ่งใครมีไอเดียทำธุรกิจในอนาคตด้วยแล้ว การเลือกทำแผนธุรกิจเป็นวิทยานิพนธ์ฟังดูเอื้อประโยชน์ไม่น้อย

แต่ละเทอมเราจะเรียนกัน 4 วิชาค่ะ โดยเทอมแรกที่ผ่านมาก็จะเป็นวิชาบังคับ 4 ตัว ซึ่งก็คือวิชารีเสิร์ช การเงิน การเริ่มต้นกิจการ และการบริหารนวัตกรรม ซึ่งเราและเพื่อนๆ มองว่าวิชาเซ็ตนี้เน้นทฤษฎีซะมากกว่า เขาคงกะให้พื้นฐานเราแน่นๆ ก่อนไปเล่นเราภาคปฏิบัติตอนเทอม 2 อะ มีเพื่อนเคยถามเหมือนกันว่าทำไมเนื้อหามันดูทฤษฎีจ๋าจัง อยากให้ออกแนวปฏิบัติจริงมากกว่ามานั่งเขียนเรียงความ อาจารย์สวนกลับมาว่าถ้าเธอรู้ว่าจะเริ่มธุรกิจยังไงเธอคงไม่มานั่งเรียนที่นี่หรอก…เออ จริงของ’จารย์

บรรยากาศในห้องเรียนซึ่งมีเก้าอี้แสนสบาย..

แต่ก็นั่นแหละ ไม่ใช่ว่าจะมีแต่ทฤษฎีล้วนๆ อย่างเดียวนะเทอมแรก ที่เราชอบสุดคืองานทำแผนธุรกิจของวิชาการเริ่มต้นกิจการ (New Venture Creation) โดยแต่ละกลุ่มจะต้องคิดค้นไอเดียธุรกิจและทำแผนธุรกิจเวอร์ชั่นมินิออกมา (มีแค่ 10 กว่าหน้าอะ มินิแค่ไหนถามใจเธอดู) ซึ่งเอาจริงๆ เห็นว่าเขียนไม่เยอะอย่างนี้จริงๆ ก็แอบยากอยู่นะ เพราะการยัดข้อมูลธุรกิจอันมหาศาลของเราให้อยู่ในขอบเขต 10 กว่าหน้านี่ต้องใช้สกิลการคัดกรองตัดข้อมูลระดับเทพจริงๆ นอกจากนี้แต่ละกลุ่มก็จะต้องพรีเซ้นท์งานตัวเองหรือพิทช์ (Pitch) งานราวกับเป็นเจ้าของหน้าใหม่กำลังหาเงินทุนหรือผู้ร่วมกิจการ ได้ฟีล Dragon’s Den เลยงานนี้

โครงสไลด์ PowerPoint ของธุรกิจกลุ่มเรา พรีเซ้นท์แค่สองนาทีแต่มีโครงถึง 3 หน้าฮะ เพื่อนบางคนก็ล้ำเกิ๊น

การเรียนการสอนส่วนใหญ่ก็จะเป็นเลกเชอร์ โดยอาจารย์จะเตรียมสไลด์ PowerPoint และเอกสารจำเป็นต้องอ่านอื่นๆ ไว้ให้ก่อนเข้าคลาส ระหว่างคลาสก็อาจจะมีกิจกรรมกุ๊กกิ๊กๆ กระตุ้นให้เด็กไม่ง่วง…เอ่อ…หมายถึงให้เด็กมีปฏิสัมพันธ์กับคลาสเรียนน่ะ อาจารย์แต่ละท่านดูจะดี๊ด๊ามากเวลาเด็กนักเรียนยกมือถามตอบหรือแม้กระทั่งคัดค้าน ซึ่งบทสนทนาพวกนี้แหละที่ทำให้คลาสสนุกดี อาจารย์ที่นี่เราว่าใจดีนะ รับฟังและพร้อมจะช่วยเหลือเด็กสุดๆ คือเวลาเด็กมีปัญหาอะไรกับงานก็พุ่งตรงไปถามได้เลยในคลาส หรือไม่ก็นัดเวลานอกเพื่อคุยกันนานๆ ไปเลย

 

  1. ด่าน

ข้อดีของหลักสูตรนี้คือ…ไม่มีสอบ! อ่านถูกฮะ เราไม่ต้องเร่งอ่านหนังสือเพื่อจำทุกอย่างให้ทันเวลา สิ่งที่มาแทนการสอบคืองาน งาน และงาน ทั้งงานกลุ่มและงานเดี่ยว ทั้งงานเขียนและงานพรีเซ้นต์ ทั้งหมดนี้จะทยอยๆ กันมาราวกับหนังซีรีส์ที่ไม่อยากให้คนดูค้างเติ่ง เรียกได้ว่าพองานแรกมาปุ๊บ หลังจากนั้นก็แทบจะไม่ได้พักยาวๆ เลย เพราะจะมีงานอื่นๆ มาจ่อคิวต่อ บางทีนางก็มา 2-3 งานส่งเวลาไล่เลี่ยกัน (กำหนดส่ง 2 งานในวันเดียวกันก็เคยมีนะ แต่โดนเด็กโวยจนโรงเรียนยอมเลื่อนให้…เอาเข้าจริงโรงเรียนนี้ก็แอบยืดหยุ่นนะ)

กาแฟคือยาวิเศษช่วงทำงานจริงๆ เมืองนี้ร้านกาแฟเยอะมาก!

เอาจริงๆ เราชอบแบบนี้มากกว่าสอบนะ เราเป็นพวกขี้เกียจนั่งท่องจำเพื่อเข้าสอบอะ การที่มีงานโยนมาให้เรื่อยๆ มันก็เหมือนบังคับกลายๆ ให้เราทบทวนบทเรียนอยู่เสมอ และเอื้อให้เราหัดประยุกต์ความรู้หรือสกิลต่างๆ มาใช้ให้เกิดประโยชน์จริงๆ อีกอย่างคือเราได้บริหารเองว่าจะใช้เวลากับมันนานเท่าไร – โดยเฉพาะงานเดี่ยว เพราะถ้างานกลุ่มก็จะต้องตกลงนู่นนี่นั่นกับเพื่อนร่วมทีมอีกที หากเจอพวกถึกก็อาจจะมีการนัดทำงานจนดึกดื่นไม่ก็เช้าตรู่ กระทิงแดงไปนะฮะ

 

  1. ทีมหนูทดลอง

คลาสเรามีประมาณ 30 กว่าคนค่ะ อย่างที่บอกไปตอนต้นว่าเพื่อนๆ ในห้องนี่มาจากต่างวงการ เชื้อชาติสัญชาติก็ปนกันมั่ว เอ๊ย หลากหลายเหมือนกัน ถึงอย่างนั้นที่เด่นๆ ในห้องเราก็มีอยู่สองชาติ นั่นคือเยอรมันกับจีน ซึ่งพอบวกรวมสองชาตินี้ด้วยกันก็ปาเข้าไปหนึ่งส่วนสามของคลาสละจ้ะ

ตอนแรกเราหวั่นๆ ว่าจะเจอเพื่อนร่วมคลาสที่นิสัยเสีย อารมณ์แบบเหยียดชาติ เหยียดเพศ อีโก้จัด อวดฉลาด ไม่เอาใคร อย่างที่เคยได้ยินหลายคนซึ่งเรียนต่างประเทศบิวด์ต่อๆ กันมา แต่กลับกลายเป็นว่าเพื่อนร่วมห้องเราดีกว่าที่คิดมากๆ ทุกคนสนับสนุนซึ่งกันและกัน ไม่มีการเหยียดนู่นนี่นั่นเหมือนที่กลัว ที่เราประทับใจคือมีครั้งนึงที่หลายคนไม่เข้าใจเนื้อหาวิชาการเงินเพราะไม่มีความรู้ด้านนี้มาก่อน เพื่อนๆ ที่เรียนจบด้านนี้ก็อาสาเป็นติวเตอร์เฉพาะกิจ เปิดห้องติวเพื่อนคนอื่นๆ อย่างพ่อพระแม่พระ นอกจากนี้เวลาเจอข้อมูลอะไรดีๆ จำเป็นต่องาน เพื่อนก็จะแชร์กันตลอด เป็นคลาสเล็กๆ ที่อบอุ่นดีอะเราว่า

บรรยากาศตอนฉลองมิดเทอม ชวนกันไปเที่ยวเกือบทั้งคลาสเลย
  1. นอกห้องเรียน

นอกจากเนื้อหาวิชาการตามหลักสูตร ที่นี่ยังให้ความสำคัญกับความรู้นอกตำราอีกด้วยนะ โดยเฉพาะสกิลการเอาตัวรอดในชีวิต (ทำไมฟังดูบุกป่า) เช่น การค้นหาและพัฒนาความสามารถของตัวเอง การหางานที่ใช่ การถ่ายทอดความคิด การติดต่อสื่อสาร ช่วงต้นเทอมหนึ่งเราได้เข้าคลาส Student Development ที่จัดขึ้นทุกสัปดาห์โดยแต่ละคลาสก็จะมีหัวข้อสับเปลี่ยนกันไป บางทีก็มีแขกรับเชิญมาพูดคุย บางครั้งก็ได้ร่วมเรียนกับเด็กสาขาอื่นแล้วร่วมกับทำกิจกรรม โดยรวมแล้วเราว่าสนุกและเป็นประโยชน์ดี เพราะมันดูเป็นสกิลที่ใช้ได้จริงนี่แหละ ที่แยกย่อยออกมาจากนี้ก็คือ Edinburgh Award ซึ่งเป็นโครงการที่ให้โอกาสเราได้เลือกพัฒนาความสามารถผ่านเวิร์กช็อปและการพูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งเราจะต้องรายงานความคืบหน้าด้วยการเขียนไดอารี่สะท้อนตัวเองในทุกๆ เทอมว่าได้พัฒนาอะไรยังไงบ้าง หากทำตามครบเงื่อนไขที่โครงการระบุไว้ เราก็จะได้รางวัลโก้ๆ เก๋ๆ มาประดับบ้าน

โอเค แวบกลับมาสาขาของเรามั่ง เทอมที่ผ่านมานอกจากการเรียนในห้องเรียน เราก็ได้ออกไปเที่ยวไปทัศนศึกษาด้วยนะ โดยส่วนใหญ่ก็จะเป็นการไปเยี่ยมชมพวก Entrepreneurial Hub หรือ ศูนย์รวมผู้ประกอบการอิสระ ทำให้เราได้เห็นบรรยากาศการทำงาน วิธีการพรีเซ้นท์งานของเจ้าของธุรกิจ (ที่บางทีก็ดูท่องสคริปต์โคตรๆ) และรูปแบบออฟฟิศที่สุดแสนจะครีเอทีฟและผ่อนคลาย ทำเอาเราอยากมีธุรกิจซะเดี๋ยวนั้นแล้วมาขอกินนอนด้วย

โถงทางเดินหลักของสำนักงาน Royal Bank of Scotland ที่ซึ่งเป็นที่ตั้งของ Entrepreneurial Spark (หนึ่งใน Hub ที่เราไป)
ส่วนนึงของ Creative Exchange ซึ่งคนส่วนใหญ่ที่ทำงานจะออกแนวดีไซน์ๆ บรรยากาศออฟฟิศดูกรีนๆ ดี น่าหลับ เอ๊ย น่าทำงาน

นั่นแหละคือไฮไลท์เทอม 1 ซึ่งพอมองย้อนกลับไปก็รู้สึกว่ามันเร็วนะ (แต่ตอนทำงานไม่ยักรู้สึกเร็วแฮะ รู้สึกว่ากว่าจะเสร็จนี่ช้าไปไหน) สำหรับเทอม 2 ที่จะเขียนในเอนทรี่ต่อไป มันก็มีเรื่องน่าตื่นเต้นตรงที่ว่าคราวนี้เราจะได้ทำโครงงานที่ต้องข้องเกี่ยวกับบริษัทจริงๆ ละ โดยจะต้องไปให้คำแนะนำเขาในเรื่องที่เขาเสนอมา (//ตอนนั้นยังคิดอยู่ ตัวฉันจะมีอะไรไปแนะนำเจ้าของกิจการฟะ) ที่ต้องทำเพิ่มอีกคือเริ่มต้นการร่างวิทยานิพนธ์ ซึ่ง…ตอนนั้นก็ยังไม่ได้สรุปหัวข้อเลยจ้า (//ชีวิตนี้มีอะไรชัดเจนบ้างมั้ย)

สำหรับตอนนี้ก็แค่นี้ก่อนละกัน บ๊ายบายค่ะทุกคน เจอกันครั้งหน้า ที่เราจะมาเล่าต่อว่าเทอมสองนั้นหฤโหดหรรษาแค่ไหน

(แค่ไหนคิดดู อู้เขียนบล็อกทั้งเทอม //เอาจริงๆ คือตั้งแต่กลางเทอมหนึ่งต่างหาก กระผมขออภัยยย)

 

ปิดท้ายด้วยรูปสวยๆ ของสวน George Square หน้าโรงเรียนช่วงฤดูใบไม้ร่วง เป็นการไถ่โทษ

สนใจเรียนต่อ University of Edinburgh ลงทะเบียนเพื่อรับข้อมูลเรียนต่อและคำปรึกษาจากพี่ๆ Hands On ตัวแทนมหาวิทยาลัยอย่างเป็นทางการประจำประเทศไทย ฟรี คลิก