สวัสดีค่า ครั้งนี้ปลื้มจะรีวิวว่าด้วยเรื่องวิชาเรียนต่างๆ ในคอร์ส Graphic Design & Illustration ที่ Cambridge School Of Visual & Performing Arts (CSVPA) ซึ่งก็จะมีวิชาที่เรารู้สึกปังและรู้สึกพังบ้างปะปนกันไป แต่สิ่งที่ต้องขอออกตัวชมไว้ก่อนเลยคือเรื่องของสต๊าฟ ไม่ว่าจะเป็นอาจารย์ที่สอน พนักงานที่รีเซปชั่นหรือแม้แต่พนักงานที่โรงอาหารคือดีมากๆในความคิดของเรา และเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เริ่มกล้าที่จะพูดคุยภาษาอังกฤษนอกเหนือจากการพูดล้อเล่นกับเพื่อน
- BA Access Graphic & Illustration
เรียกได้ว่าเป็นวิชาหลักของคอร์สเราเลย ประจำอยู่ในตารางเรียนวันจันทร์และวันศุกร์เต็มวัน อาจารย์ที่สอนก็จะเป็นอาจารย์หลักของ Graphic Design & Illustration course ด้วยความที่คอร์สนี้มีคนแค่ 4 คนการให้คำปรึกษาก็จะค่อนข้างทั่วถึง เขาจะคอยเดินวนดูความคืบหน้าหลังจากให้โจทย์หรือหัวข้อโปรเจคมาแล้ว และสามารถถามได้ตลอดถ้ามีอะไรสงสัย
การเรียนการสอนของที่นี่จะค่อนข้างเน้นให้ลองลงมือทำค่ะ คือผลลัพธ์เขาก็สนใจแต่กระบวนการก่อนที่จะออกมาเป็นผลงานสำเร็จเขาก็ให้ความสำคัญเหมือนกัน ตอนมาแรกๆ เรายังชินกับการมุ่งไปที่ตัวงานในขั้นสุดท้ายไม่ค่อยได้ research ข้อมูลอย่างที่ควรจะเป็น อาจารย์เขาก็จะคอยเตือนให้ลองคิดในมุมกว้างๆซึ่งผลลัพธ์เราคิดว่าดีขึ้นมากทั้งคุณภาพงานที่ได้และเรื่องของการตอบตรงโจทย์ที่ได้รับ ถ้าพูดถึงเรื่องความสนุกนี่แน่นอน เพราะเราได้ลองเทคนิคอะไรใหม่ๆ เยอะแยะในคาบอื่น แล้วพยายามเอามาปรับใช้กับโปรเจค
ยกตัวอย่างโปรเจคแรกที่ได้ทำ หัวข้อคือ ‘Model of transport’ ในบรีฟก็จะมีหัวข้อย่อยให้ไปเลือกทำและผลิต artwork นำเสนอตามโจทย์ เขาก็จะเน้นอีกครั้งในเรื่องการทำ research และ mind map ที่จะมีส่วนช่วยในการคิดเยอะมาก อันนี้พิสูจน์เองมาแล้ว
ตัวอย่างบางชิ้นจากโปรเจคที่ว่า ก็เป็นงาน paper cut ครั้งแรกที่ไม่รู้ว่าจะเรียกว่า paper cut ได้รึเปล่า แต่หลังจากนั้นก็กลายมาเป็นเทคนิคโปรดตลอดคอร์สไปโดยปริยาย และเนื่องเราเลือกรถบัสเป็นโจทย์ก็ต้องมีการทดลองขึ้นด้วยตัวเอง คุยกับคนขับก็เหมือนจะรู้เรื่องแต่ก็ไม่รู้เรื่อง สุดท้ายเราก็ซื้อตั๋วแบบงงๆ นั่งไปแบบงงๆและถึงที่หมายแบบงงๆ ไม่สมควรเลียนแบบอย่างยิ่ง
พอเริ่มชินกับวิธีการเราก็จะเริ่มปรับตารางการทำงานได้ค่ะว่าควรค้นคว้าหาข้อมูลถึงวันไหน ควรเริ่มจากอะไร ความเชื่อมโยงในเรื่องนี้ไปเรื่องไหนได้อีก มีทั้งต้องออกไปนอกสถานที่เพื่อเก็บข้อมูลด้วย ทั้งหมดนี้ต้องทำในเวลาที่เขากำหนดเอาไว้ สองอาทิตย์บ้างสามอาทิตย์บ้าง หลังการพรีเซนต์งานอาจารย์เขาก็จะเขียน feedback กลับมาให้พร้อมกับคะแนน ตรงส่วนนี้ก็จะใช้ตัดสินด้วยว่าเราผ่านคอร์สรึเปล่า
- BA Access Creative Skills
การเรียนในช่วงเดือนแรกอาจารย์เขาจะเน้นให้ลองทำเทคนิคใหม่ๆอย่างพวกการพิมพ์ mono print การพับกระดาษสามมิติ หรือการออกไปดอว์อิ้งคนข้างนอกโรงเรียนบ้าง แต่หลังจากนั้น ก็จะเริ่มปล่อยให้เราจัดการกับตัวโปรเจคของวิชาหลักซะมากกว่า เนื่องจากอยู่ในตารางวันอังคารทั้งวัน เราเลยมักเลือกที่จะออกไป research ข้างนอกในวิชานี้ค่ะ แต่แน่นอนว่าต้องมาเช็คชื่อก่อนทุกครั้งและขออนุญาตให้เรียบร้อยเพื่อประวัติการเข้าเรียนที่สวยงาม
- BA Access Study Skills
วิชาที่เราจะบอกว่าไม่ชอบเลยในตอนแรก อาจารย์ที่สอนในวิชานี้จะเป็นคนเดียวกับวิชาหลัก นับเป็นเรื่องที่ดีเพราะถ้าหากเรามีคำถามอะไรเกี่ยวกับโปรเจคเราจะยังมีโอกาสอยู่ในวันพุธช่วงเช้า แต่เขาก็จะมาพร้อมกับหัวข้อการเขียนเรื่องต่างๆให้ส่งในอาทิตย์ถัดไป สำหรับเราทีค่อนข้างอ่อนในเรื่องการเขียนภาษาอังกฤษเลยจะรู้สึกเซ็งเบาๆ แต่เรื่องมาพลิกที่ว่าการส่งรายงานขนาดย่อมนี้จะเป็นในรูปแบบของการเขียนบล็อก ครั้งละไม่ต่ำกว่า 500 คำ ทำไปทำมาเรากลับมันส์มือซะงั้น อาจจะเพราะมันไม่ใช่การเขียนแบบเป็นทางการนักด้วย จนมาหลังๆไม่ต้องรอให้อาจารย์เตือนเราก็เขียนถึงความคืบหน้าของโปรเจคเป็นพักๆเองเลยแบบไม่ต้องสั่งงาน
แต่พอตอนนี้กลับไปอ่านอีกครั้งแล้วอยากจะปิดบล็อกมากกว่าระลึกความหลัง เข้าใจแล้วว่าทำไมอาจารย์พูดย้ำเรื่องแกรมม่าบ่อยๆ…
ถึงอย่างนั้นก็อย่าเพิ่งตายใจค่ะ เพราะรายงานที่จริงจังเองก็มีมาให้ทำเรื่อยๆเหมือนกัน โดยส่วนมากก็จะเป็นเอกสารที่เราต้องใช้สำหรับการสมัครเข้าเรียนมหาวิทยาลัยหรือเพื่อเรียนให้จบคอร์สทั้งนั้น อย่าง SOP, Evaluation, Final project proposal หรือพวก Personal statement ก็จะเป็นเหมือนการบังคับตัวเองให้ชินกับการเขียนแบบ formal มากขึ้นด้วย เพราะรายงานในระดับปริญญานั้นโหดกว่านี้อีกมากทั้งในแง่ของ pattern ที่ต้องเขียนและจำนวนคำศัพท์ที่กำหนด
- BA Access Photography
วิชาในวันพุธเช่นกันแต่อยู่ในช่วงบ่าย อันนี้จะเป็นอะไรที่เราชอบเป็นการส่วนตัว คือเรื่องกล้องถ้าถามว่าอยากถ่ายภาพแบบนี้ต้องปรับตรงไหนยังไง บอกเลยว่าไม่รู้ อาศัยโหมด auto มาตลอด จนกระทั่งได้มารู้จักการใช้โหมด Manual จากอาจารย์ในวิชานี้นี่แหละ ที่ทำให้รู้สึกว่าการถ่ายภาพมันสนุกขึ้น และได้ลองเอามาใช้เป็นเทคนิคหลักในการนำเสนอโปรเจคด้วย
นอกจากกล้อง DSLR ที่เขาจะมีให้ยืมแล้ว เราก็ได้ลองจับกล้องฟิล์มและล้างภาพเองเป็นครั้งแรกในชีวิตด้วย ความยากก็แน่อยู่แล้วสำหรับคนที่ใช้แบบดิจิตอลมาตลอด ชินกับการถ่ายแล้วเปิดดูแล้วถ่ายอีกกี่ร้อยครั้งก็ได้ แต่สำหรับฟิล์มเราจะไม่สามารถรู้ได้เลยว่าสิ่งที่ถ่ายมันเป็นไปตามหวังรึเปล่า ได้แต่สวดภาวนาและรอเวลาล้างภาพว่าให้มันออกมาดีเท่านั้น แถมพอมีจำนวนภาพที่ถ่ายได้จำกัด เราก็ยิ่งพะวงมากขึ้นไปอีกเวลาจะกดชัตเตอร์แต่ละที กลายเป็นถ่ายได้น้อยกว่าชาวบ้านเขา
แต่หลังจากผ่านจากการถ่ายมาสู่กรรมวิธีล้างภาพ จะรู้เลยค่ะว่าจริงๆแล้วถ่ายได้น้อยก็ดีเหมือนกัน
ขั้นตอนที่ถือว่ายากที่สุดสำหรับเราคือการแกะฟิล์มออกจากม้วนและตัดปลาย เพราะต้องทำทุกอย่างทุกขั้นตอนในถุงดำที่มีช่องให้แค่สอดแขนเข้าไป แน่นอนว่าสิ่งเดียวที่เชื่อใจได้ในตอนนั้นคือสัมผัสที่ปลายนิ้วล้วนๆ บางคนก็ใช้เวลาไม่นาน บางคนก็กินไปเป็นหลายสิบนาทีกว่าจะเสร็จ ถ้าโชคร้ายหน่อยตัวฟิล์มอาจจะโดนนิ้วกลายเป็นรอยหรือโดนแสงจนเสียได้ ถึงอย่างนั้นต้องขอบอกว่าวิชานี้คุ้มค่าทุกวินาทีจริงๆ
- BA Access EAP
วิชาไม้เบื่อไม้เมา หลายเดือนแรกจะอยู่หลังจากวิชาถ่ายภาพ แต่ประมาณหนึ่งเดือนสุดท้ายจะย้ายมาเป็นเช้าวันพฤหัสแทน แต่จะวันไหนเวลาไหนเราก็ไม่พร้อมกับการเรียนภาษาอังกฤษอยู่ดี อาจารย์จะมีอยู่สองคนแบ่งเป็นช่วงวันพุธและวันพฤหัส เป็นคนเฟรนลี่มากๆทั้งคู่และไม่รู้ว่าเราคิดไปเองไหมว่าเขาจะพยายามใช้ศัพท์ที่ไม่ยากเกินไปให้ทุกคนเข้าใจ หรือถ้ายังไม่ถึงที่สุดจริงๆจะให้ใช้การอธิบายก่อนว่าคำศัพท์นี้หมายความว่าอะไรให้พอนึกความหมายออก ดิกชินนารี่ก็จะถูกปิดตายในคาบไปโดยปริยาย
เวลาที่เรามีรายงานที่ค่อนข้างเป็นทางการในวิชา BA Access Study Skills ก็สามารถไปขอความช่วยเหลือได้ บางคนเขาก็จะให้ปริ้นส์ใส่กระดาษแล้วเอาไปนั่งแก้กับเขาตัวต่อตัวเลย
อีกเรื่องหนึ่งที่ทำให้เราประทับใจในตัวอาจารย์มากๆก็คือ ก่อนที่เราจะไปสอบ IELTS ทุกครั้ง เขาจะช่วยในสิ่งที่เขาช่วยได้อย่างเต็มที่จริงๆ ถ้าในเวลายังไม่เข้าใจก็สามารถนัดไปคุยนอกรอบที่ห้องพักครูได้ ชีทเตรียมตัวสอบคือหนายิ่งกว่าสมุดสเก็ตซะอีก ขอยกความดีความชอบที่สามารถเข้าเรียนที่ AUB ได้ตามที่ตั้งใจให้แก่อาจารย์วิชาภาษาอังกฤษของเราเลยที่เข็นมาได้ขนาดนี้
- BA Access Life Drawing
อีกหนึ่งวิชาโปรดของเราเลยค่ะ การเดินย้ายตึกก็ไม่ไกลเท่าไหร่ถ้าเทียบกับตึกวิชาถ่ายภาพ นับตั้งแต่คาบแรกยันคาบสุดท้ายของคอร์ส ตัวแบบที่จะถูกจัดมาให้วาดก็จะเป็นแบบเปลือย ซึ่งก็มีทั้งชายและหญิงคละกันไปแต่ละอาทิตย์ สิ่งที่ไม่เคยได้วาดอย่างรูปทรงคนอ้วนแบบฝรั่งหรือคนท้องก็ได้วาดจนเต็มอิ่ม ส่วนมากเวลาการวาดจะถูกจำกัดเป็น 10 นาทีบ้าง 5 นาทีบ้าง หรือบางทีก็ 2 นาที ท่าโพสก็จะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ เราเองก็สามารถเปลี่ยนที่นั่งไปมุมนู้นทีมุมนี้ทีได้ถ้าที่ยังว่าง จะได้ลองวาดหลายๆแบบ
อุปกรณ์ที่ใช้หลักๆก็จะมีถ่านเกรยองกับดินสอค่ะ ยิ่งเลอะยิ่งเยอะประสบการณ์กันไป ต้องโน้ตไว้เลยว่าวันพฤหัสจะไม่ใส่เสื้อสีขาวเด็ดขาด ยิ่งบางทีอาจารย์จะให้ลองใช้หมึกดำวาดแทน ตอนเรียนจบคอร์สรู้สึกภูมิใจมากที่ยังรักษาเอกราชความขาวไว้ให้เสื้อในตู้ได้ แต่ก็ขอให้ทำใจเรื่องมือเอาไว้เลย ยิ่งคนที่ไม่ชอบทาโลชั่นมือด้วยแล้ว ผงถ่านก็จะฝังลึกหนักหน่อยตามร่องที่มันแห้งเพราะอากาศเย็น
- BA Access Visual Studies
วิชานี้จะค่อนข้างพิเศษเพราะได้เรียนในห้องใหญ่กับเด็กจากคอร์สอื่น แต่ความรู้สึกแรกเหมือนมีทัวร์จีนลงมากกว่าตอนที่คนทยอยเข้ามาในห้อง สิ่งที่ทำให้เซ็งเป็นพักๆคือบางคนเขาจะไม่ค่อยยอมพูดภาษาอังกฤษกันในเวลาเรียนและคุยกันเสียงดังจนอาจารย์ต้องออกปากเตือนหลายครั้ง แต่โดยรวมก็ผ่านพ้นไปได้ด้วยดีค่ะ การเรียนในวิชานี้ค่อนข้างจะคล้ายกับ BA Access Creative Skills แต่ส่วนมากอาจารย์ผู้สอนจะมีโจทย์มาให้ว่าวันนี้ทำอะไร และเน้นการทำงานกันเป็นกลุ่มมากกว่า
วิชาเรียนในคอร์ส Foundation ของกราฟฟิคดีไซน์ก็มีประมาณนี้ค่ะ อาจจะมีวิชาเสริมบ้างแต่ก็จะเป็นภาษาอังกฤษเพิ่มเติมสำหรับการสอบ IELTS โดยเฉพาะอะไรพวกนั้น ติวกันหนักมากจริงๆ และก็มีอะไรให้ปรับตัวกันพอสมควร แต่ขอบอกเลยค่ะว่าการเรียนปรับพื้นฐานนี้เป็นแค่น้ำจิ้มเท่านั้นถ้าเทียบกับระดับปริญญาตรีของจริง วิชานอกเหนือจากวิชาหลักอาจจะไม่มากเท่า แต่ความลึกของสิ่งที่เรียนมันทำให้รู้สึกว่าว่ารัฐบาลอังกฤษคิดถูกแล้วที่บังคับให้นักเรียนต่างชาติเรียน Foundation ก่อนที่จะให้ไปเผชิญกับหลักสูตรของจริง
สนใจเรียนต่อ Arts University Bournemouth ลงทะเบียนเพื่อรับข้อมูลเรียนต่อและคำปรึกษาจากพี่ๆ Hands On ตัวแทนมหาวิทยาลัยอย่างเป็นทางการประจำประเทศไทย ฟรี คลิก