Hands On Education Consultants

รีวิวคอร์ส MSc International Development ที่ University of Manchester

สวัสดีค่ะ กลับมาพบกันอีกแล้วในบทความนี้ วันนี้บีจะมาแชร์ประสบการณ์การเรียนต่อปริญญาโทสาขาการพัฒนาระหว่างประเทศ (MSc International Development) ที่ มหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์ให้เพื่อนๆ พี่ๆ และน้องๆ กันค่ะ

ขอเกริ่นก่อน นิดนึงว่าบีจบปริญญาตรีจากคณะสังคมศาสตร์ เอกการศึกษาระหว่างประเทศ จากวิทยาลัยนานาชาติมหาวิทยาลัยมหิดล พอเรียนจบปุ๊บบีก็ไม่รอช้าทำเรื่องติดต่อเรียนปริญญาโทกับพี่ๆ Hands On ทางด้านการพัฒนาระหว่างประเทศ เพราะมีความใฝ่ฝันว่าอยากทำงานกับองค์กรการพัฒนานานาชาติใหญ่ๆ อย่าง UN และได้มีการพูดคุยกับอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยเก่า เลยตัดสินใจเรียนคณะนี้ที่มหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์ เพราะคณะนี้ได้ถูกจัดลำดับให้ติด 1 ใน 3 มหาวิทยาลัย โดย QS Ranking ที่มีความโดดเด่นทางด้านการพัฒนาระหว่างประเทศ

คอร์สปริญญาโทที่บีเรียนใช้เวลาเรียน 1 ปี เสียค่าเล่าเรียนประมาณ 15,000-18,000 ปอนด์หรือราวๆ 800,000 บาท มี 120 เครดิต แล้วก็ต้องส่งวิทยานิพนธ์ปลายภาค อีก 1 เล่ม จำนวน 12,000-15,000 คำ ในช่วงเดือนกันยายนของปีถัดไป คอร์สของบีแบ่งเป็น 2 เทอม เทอมนึงมี 60 เครดิต เป็นวิชาภาคบังคับ 4 ตัว วิชาอิสระ 4 ตัว โดยเทอมแรกของบี วิชาภาคบังคับมี 2 ตัว คือ Development Fundamental ซึ่งเป็นวิชาที่พูดถึงและทำให้บีเห็นภาพรวมของแนวความคิดของโปรแกรมการพัฒนาในองค์กรใหญ่ๆ อย่าง UN ที่ให้ความช่วยเหลือประเทศอื่นๆ  ซึ่งปัจจุบัน UN มีการนำ Sustainable Development Goal (SDG) มาใช้ และหลายๆ ประเทศก็มีการนำแนวคิดนี้มาบังคับใช้ในการพัฒนาประเทศของตน ส่วนวิชา Global Inequalities and Social Development เป็นวิชาที่สอดคล้องต่อจาก Development Fundamental โดยลงลึกถึงการให้นิยามการพัฒนาทางสังคม เช่น การนิยามคำว่าขัดสนหรือการพัฒนา

 

ส่วนวิชาอิสระอีก 2 ตัว บีเลือกเรียน Globalization, Trade, and Development ซึ่งเป็นวิชาที่พูดถึงโลกาภิวัฒน์ การพัฒนา และการค้าของโลก กับ Conflict Analysis ซึ่งพูดถึงการวิเคราะห์ ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในโลกของเรา โดยอาศัยการวิเคราะห์ผ่านทฤษฎีต่างๆ สาเหตุที่บีเลือกเรียน 2 วิชาอิสระนี้เพราะส่วนตัวบีชอบเรียนเรื่องของการค้า และอยากเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับการคิดวิเคราะห์ในเรื่องของความขัดแย้งอยู่แล้ว ซึ่งในแต่ละวิชาที่บีเรียนมีเกณฑ์การเรียนต่างกัน รวมไปถึงการประเมินผลปลายเทอม ยกตัวอย่าง เช่น วิชา Development Fundamental มี lecture 9 ครั้ง ครั้งละ 2 ชั่วโมง และ tutorial (discussion) 3 ครั้ง ครั้งละ 2 ชั่วโมง ซึ่งเปิดโอกาสให้นักเรียนมาอภิปรายหารือกันถึงเนื้อหาที่เรียนไปในแต่ละสัปดาห์ผ่านการอภิปรายกลุ่ม นอกจากนี้ก็มี Drop in surgery ซึ่งอนุญาตให้นักเรียนสอบถามถึงการเรียนในรายวิชาเพิ่มเติม ซึ่งจัดโดยนักศึกษาปริญญาเอกที่เป็นรุ่นพี่ ซึ่งมาทำหน้าที่เป็นอาจารย์ช่วยฝึกสอน ส่วนเรื่องของการประเมินผล มีทั้ง การสอบกลางภาคที่คิดเป็น 20% และ การเขียนเรียงความ 3,000 คำขึ้นไป สำหรับปลายภาคคิดเป็น 80 % ของคะแนนทั้งหมด หรือการเขียนเรียงความที่คิดเป็น 100 % ของเกรด ส่วนในเรื่องของการตัดเกรด บอกเลยว่าเคี่ยวกว่าที่ไทยเยอะ เกณฑ์คะแนนที่ให้ผ่านจะอยู่ที่ 50 จาก 100 คะแนน เพราะระยะเวลาของคอร์สเรียนที่จำกัดเพียงแค่ 1 ปี

นอกเหนือจากคอร์สที่เรียน ทางคณะก็มีห้องคอมพิวเตอร์สำหรับนักศึกษาปริญญาโทให้ได้ทำงานและพิมพ์งานภายในตึกคณะ โดยใช้บัตรนักศึกษาเพื่อผ่านประตู อีกทั้งมีการจัดให้นักศึกษา เข้าพบอาจารย์ที่ปรึกษาอยู่เป็นระยะๆ มีการแต่งตั้งตัวแทนนักศึกษาเพื่อเป็นกระบอกเสียงให้แก่นักเรียนในการเข้าพูดคุยกับทางคณะ โดยการแต่งตั้งมาจากการโหวตของนักศึกษาในเทอมแรก รวมไปถึงมีเวิร์คชอบให้แก่นักเรียนทุกคนทุกอาทิตย์ โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ เช่น การคิดวิเคราะห์ การอ่านจับใจความ การจดบันทึกอย่างมีประสิทธิภาพ รวมไปถึงการจัดการปาฐกถาจากบุคคลที่มีความสำคัญในแวดวงของการพัฒนา รวมไปถึงเปิดติวให้นักเรียนที่ต้องสอบซ่อมปลายภาคอีกด้วย เรียกว่าให้การช่วยเหลือนักศึกษาอังกฤษและต่างชาติมีให้เต็มที่คุ้มค่าเล่าเรียนที่เสียไปจริงๆค่ะ

ในส่วนของจำนวนนักศึกษาไทยที่เข้าเรียนในสาขานี้ยังน้อยอยู่ บีเคยคุยกับอาจารย์ที่ปรึกษา บีมีเพื่อนร่วมชั้นที่เป็นคนไทยแค่ 2 คน ที่เหลือมาจากหลายๆประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา อังกฤษ จอร์แดน บังคลาเทศ จีน และอินโดนีเซีย เป็นต้น มิตรภาพของพวกเราเหนียวแน่นมาก เพราะสาขาที่บีเรียน มีนักศึกษาอยู่น้อยกว่า 30 คนต่างจากเอกอื่นๆ ส่วนเรื่องบัณฑิตใหม่ที่จบออกไป ทางสมาคมศิษย์เก่าของคณะ ได้มีการสร้างสัมพันธ์โดย จะให้นักศึกษาอัพเดทข้อมูลหลังจบการศึกษาเพื่อดำเนินการแจ้งข้อมูลข่าวสารต่างๆ ของทางคณะ

จากทั้งหมดที่เล่ามานี้ บีรู้สึกว่าตัวเองตัดสินใจไม่ผิดที่เลือกเรียนคณะนี้ ถึงระยะเวลาจะค่อนข้างจำกัด แต่บีรู้สึกสนุกกับสิ่งที่บีได้เรียนรู้ตลอด 1 ปี ขอบคุณนะคะ บีหวังว่าบทความของบีคงจะมีประโยชน์กับทุกคนไม่มากก็น้อย แล้วเจอกันใหม่ในบทความหน้านะ

สนใจเรียนต่อ University of Manchester ลงทะเบียนเพื่อรับข้อมูลเรียนต่อและคำปรึกษาจากพี่ๆ Hands On ตัวแทนมหาวิทยาลัยอย่างเป็นทางการประจำประเทศไทย ฟรี คลิก