Hands On Education Consultants

รีวิว MSc Global Affairs ที่ King’s College London โดย Jaguar

แนะนำตัวเองให้เรารู้จักหน่อยค่ะ

Jaguar: สวัสดีครับ ชื่อจากัวร์นะฮะ ตอนนี้เรียนอยู่ที่ King’s College London คอร์ส MSc Global Affairs ครับ

ทำไมถึงเลือกเรียนคอร์สนี้คะ?

Jaguar: ที่จริง เหตุผลมันเยอะมากเลยครับ แต่เหตุผลหลัก ๆ แล้วเนี่ยจากัวร์แบ่งออกเป็น 3 เหตุผลแล้วกันครับ เหตุผลแรกจากัวร์รู้สึกว่าตัวเองเป็นคนชอบค้นคว้าแล้วก็ศึกษาเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ หรือความขัดแย้งระหว่างประเทศที่เกิดขึ้น ดังนั้นจากัวร์เลยคิดว่าการที่เรามีความสนใจแบบนี้แล้วคอร์สที่เราเรียนมันก็ตรงกับความสนใจของเราพอดี ก็เลยกลายเป็นเหตุผลหนึ่งที่เราเลือกที่จะเรียนคอร์สนี้ ก็คือคอร์ส Global Affairs นั่นเองนะฮะ

ส่วนเหตุผลที่สอง ก็คือว่าทุกคนที่เรียนความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ มักจะมีแรงบันดาลใจแรงบันดาลใจหนึ่งก็คือความต้องการที่จะเปลี่ยนแปลงสังคมให้น่าอยู่มากขึ้น หรือมีความต้องการที่จะพัฒนาสังคมให้ดีมากขึ้นนะฮะ ดังนั้นอันนี้ก็เป็นอีกหนึ่งแรงบันดาลใจของจากัวร์เหมือนกันในการที่จะเปลี่ยนแปลงสังคม อย่างน้อยถ้าเกิดว่าเราได้เรียนคอร์สนี้ไปแล้ว เราก็สามารถนำความรู้ที่ได้จากคอร์สนี้หรือว่านำทักษะการวิเคราะห์ การคิด มาประยุกต์ใช้กับการพัฒนาประเทศ แล้วก็มาประยุกต์ใช้กับการทำงานในอนาคต

กับเหตุผลสุดท้ายนะฮะ ก็คือเหตุผลที่ว่าการเรียนที่ King’s College London เป็นการเรียนที่เราได้แสวงหาโอกาส ทำให้เราได้ท้าทาย comfort zone ของตัวเอง ทำให้เราได้ก้าวออกมาจาก comfort zone ของตัวเองจริง ๆ เราได้ไปอยู่ในที่ที่สภาพแวดล้อมก็เปลี่ยนแปลงไป ความท้าทายมันก็เกิดขึ้น ดังนั้นจากัวร์ก็เลยคิดว่าการมาเรียนคอร์สนี้และก็มาเรียนที่ King’s College London จะตอบโจทย์ที่สุดกับทั้ง 3 เหตุผลที่จากัวร์ว่ามาครับ

พี่ขอย้อนไปนิดหนึ่งเนอะ ในเมื่อหลักสูตรแนวความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ หรือ IR ก็มีหลายมหาวิทยาลัยเปิดสอน ทำไมถึงเลือกเรียนที่ King’s College London คะ?

Jaguar: คืออันนี้น่าจะเป็นเหตุผลในการเลือกมหาวิทยาลัยเนอะ คือคอร์สนี้ที่ UCL หรือ King’s College London หรือ LSE  ก็มีเปิด เหตุผลแรกคืออาจารย์ครับ เพราะว่ามหาวิทยาลัยต่างกัน อาจารย์ผู้สอนก็จะต่างกันด้วย ในเมื่ออาจารย์ต่างกัน ความเชี่ยวชาญของอาจารย์แต่ละคนก็จะต่างกันด้วย อันนี้ก็เป็นอีกเทคนิคหนึ่งในการเลือกมหาวิทยาลัยเนอะ คือต้องดูที่อาจารย์ ที่ King’s มีอาจารย์ที่เชี่ยวชาญด้านนี้ แต่ที่อื่นไม่มี เราก็เลยคิดว่านี่เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ King’s stands out หรือแตกต่างจากมหาวิทยาลัยอื่น ๆ เพราะว่าเค้ามีอาจารย์ที่ specialize ในสิ่งที่เราต้องการศึกษาในตอนเรียน ป.โท ครับ

สนใจเรียนต่อ King’s College London ปรึกษาพี่ ๆ Hands On ฟรี คลิก

คอร์ส MSc Global Affairs เค้าสอนอะไรเราบ้าง

Jaguar: อันนี้พร้อมขายของมากครับ เผื่อใครสนใจมาเรียนด้านนี้เหมือนกัน พร้อมโปรโมทครับ (ยิ้ม)

คอร์สนี้เนื้อหาหลัก ๆ จะเป็นคอร์สที่ศึกษาทั้งความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ การเมือง เศรษฐกิจ สังคม แล้วก็ประวัติศาสตร์ ของภูมิภาคที่นอกเหนือไปจากตะวันตก คือปกติแล้วเนี่ยเวลาที่เราศึกษาเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศหรือว่าศึกษารัฐศาสตร์เนี่ย ความรู้ความคิด หรือว่าทฤษฎีจะมาจากประเทศที่เป็นประเทศตะวันตกนะฮะ แต่ว่าคอร์สนี้จะให้มุมมองใหม่ ๆ ในการมองโลก โดยวิเคราะห์ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ สังคม แล้วก็ประวัติศาสตร์ จากกลุ่มประเทศที่นอกเหนือไปจากตะวันตก ซึ่งอาจจะเป็นประเทศทางด้านตะวันออก หรือว่าอาจจะเป็นทวีปแอฟริกา เป็นต้น ดังนั้นเนื้อหาคอร์สเรียนที่นี่จะโฟกัสที่ จีน อินเดีย บราซิล แอฟริกา รัสเซีย และก็ออสเตรเลียครับ แล้วก็บทบาทของประเทศเหล่านี้ก็คือทั้งที่จากัวร์ mention มาทั้งหมด ในบริบทที่พลวัตเปลี่ยนแปลงไปอยู่ตลอดเวลา เพราะมันก็ปฎิเสธไม่ได้ว่าเมื่อเวลาเปลี่ยนไป โลกของเราก็เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา และบริบทมันก็จะเปลี่ยนแปลงไปด้วยเช่นเดียวกันนะฮะ

ดังนั้นการที่พลวัตของโลกและบริบทที่เปลี่ยนแปลงไป ก็ควรที่จะศึกษาประเทศเหล่านี้ เพราะว่าเราไม่สามารถปฎิเสธได้ว่า กลุ่มประเทศที่นอกเหนือไปจากตะวันตกกำลังเติบโต เราจะเห็นได้ว่าเค้ามีความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ค่อนข้างสูง ตัวเลขเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งประเทศเหล่านี้ยังเป็นประเทศที่มีบทบาทในเวทีการเมืองระหว่างประเทศด้วย

แล้วการกระทำต่าง ๆ ของประเทศเหล่านี้ก็อาจส่งผลกระทบต่อทั่วโลกด้วยเช่นเดียวกัน เราจะเห็นได้จากผลกระทบของสงครามระหว่างรัสเซียที่ประกาศต่อยูเครน โดยเหตุการณ์นี้ก็ส่งผลกระทบต่อเมืองไทยด้วยเช่นกัน ดังนั้นคอร์สนี้จึงเป็นคอร์สที่ตอบโจทย์มากสำหรับใครที่ต้องการศึกษาทั้งความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ การเมือง เศรษฐกิจ สังคม และประวัติศาสตร์ของกลุ่มประเทศนอกเหนือตะวันตกและก็บทบาทของเค้าในเวทีการเมืองโลกนะฮะ ซึ่งประโยชน์ที่จะได้จากคอร์สนี้ขอแบ่งออกเป็น 3 ประโยชน์ก็แล้วกันครับ

ประโยชน์ที่จะได้จากคอร์ส MSc Global Affairs

การเรียนการสอนของคอร์สนี้

Jaguar: โอเค มาเลยแล้วกันนะฮะ เรื่อง course structure ต้องบอกก่อนว่าคอร์สมันจะมีทั้งการเรียนแบบ lecture ก็คือแบบฟังบรรยาย กับการเรียนแบบ seminar ก็คือการ discussion กลุ่มเล็ก แล้วก็การเรียนรู้ด้วยตัวเอง ซึ่งก็ปกติอยู่แล้วว่าการเรียนป.โท ก็จะต้องมีการ self-study ซะส่วนใหญ่ lecture กับ seminar เป็นตัวเสริมที่ทำให้ dissertation ของเราเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น

จากัวร์ต้องบอกก่อนว่า lecture เนี่ยเป็นส่วนที่สามารถ guide ให้เราได้ อาจารย์เค้าก็จะ guide ให้เราว่าโอเคในวิชานี้มันจะมีเนื้อหาประมาณนี้และเนื้อหาประมาณนี้จะมีการ debate หรือการถกเถียงอะไรได้บ้าง บทสนทนาอะไรที่มันเกี่ยวข้องกับวิชาวิชานี้ ประมาณนี้นะฮะ

ส่วน seminar ก็จะเป็นการย้ำความเข้าใจของเราอีกรอบหนึ่ง ว่าโอเคเราเข้าใจถูกรึป่าวในเรื่องเหล่านี้ แล้วก็มาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน ซึ่งอันนี้เป็นสิ่งที่มีคุณค่ามาก ๆ เพราะว่าในการแลกเปลี่ยนความรู้ บทสนทนาของเรากับเพื่อนกันเอง หรือบทสนทนาที่เราคุยกับอาจารย์จะก่อให้เกิดการตกผลึกความรู้ แล้วก็แนวคิดใหม่ ๆ ที่เราสามารถประยุกต์ใช้กับวิทยานิพนธ์หรือว่า dissertation ที่เรากำลังจะทำในเทอมที่สามได้นะฮะ

สนใจเรียนต่อ King’s College London ปรึกษาพี่ ๆ Hands On ฟรี คลิก

การแบ่งภาคเรียน

Jaguar: ตลอดทั้ง academic year จะแบ่งออกเป็น 3 เทอมด้วยกัน เทอมแรกกับเทอมที่สองจะเป็น course work ต่าง ๆ ซึ่งเราสามารถเกลี่ยได้ อยู่ที่ว่าเราจะจัดตารางยังไง ต้องบอกว่าอย่าพยายามเกลี่ยไปเทอมใดเทอมหนึ่งมากเกินไป เพราะว่ามันจะทำให้เราภาระงานเยอะ แล้วเราก็จะไม่มีเวลาออกไปเที่ยว ออกไปผ่อนคลายอะไรขนาดนั้นด้วย ดังนั้นก็พยายามจัดตารางให้ดี time management เป็นอะไรที่ค่อนข้างสำคัญนะฮะ

คอร์สนี้เราสามารถลงวิชาสูงสุดได้ 9 วิชา ถ้าเกิดนับเป็นหน่วยกิตเนี่ยมันคือ 180 หน่วยกิต ที่จริงมันคือประมาณ 8 วิชา แต่ที่จากัวร์บอกว่า 9 วิชาเนี่ย เพราะว่าที่ School of Global Affairs เค้าจะให้หน่วยกิตเราเพิ่มเติม 15 หน่วยกิตเพื่อให้เราไปลงเรียนวิชาเพิ่มเติมแบบเสรี เช่นวิชาภาษา บางคนอาจจะอยากมีความรู้ทางด้านภาษาเพื่อมาต่อยอดใน dissertation ของตัวเอง ก็อาจจะไปลงเรียนภาษาโดยใช้หน่วยกิตเพิ่มเติมนี้ในการลงเรียน

และเทอมที่สามก็จะเป็นเทอมที่เราทำ dissertation อย่างเดียวละ ช่วงก่อนที่จะไปเทอมที่สองไปเทอมที่สามเนี่ย มันจะมี process ที่เรียกว่าการส่ง proposal คือการส่งให้อาจารย์รู้เฉย ๆ ว่าใน dissertation ของเราเราจะทำอะไรบ้าง ซึ่ง process นี้อาจารย์จะ comment มา แล้วเราก็จะสามารถเอา feedback ที่อาจารย์เค้าให้มา มาประยุกต์ใช้กับ dissertation จริง ๆ ในเทอมที่สามที่เราจะต้องทำตลอดทั้งสามเดือนจนจบคอร์ส แล้วก็ส่งวันที่ 2 กันยายน นะฮะ ดังนั้นคอร์สจะจบจริง ๆ ที่เดือนกันยายนครับ นี่เรามองอนาคตไปแล้ว ว่าตรงนั้นเราจะต้อง graduation แล้ว (หัวเราะ)

เนื้อหาวิชา โดยส่วนตัวชอบวิชาไหนบ้างคะ?

Jaguar: ขอเลือกวิชาที่ชอบและวิชาที่ชอบน้อยที่สุดก็แล้วกันนะฮะ เพราะว่ามันไม่มีวิชาไหนที่เรารู้สึกไม่ enjoy เลยนะ

เริ่มจากวิชาที่ชอบมากที่สุดก่อนก็แล้วกันนะฮะ คือวิชา African Issues in Global Affairs ซึ่งวิชานี้ก็ตรงตาม description ของนางเลย ก็คือมันทำให้เราได้มีความรู้ มีความคิดเกี่ยวกับการมองแอฟริกา ซึ่งบางคนอาจจะมองว่าแอฟริกาดูเป็นทวีปที่ยากจน ดู underdeveloped อะไรประมาณนี้ แต่ว่าการเรียนคอร์สนี้ทำให้มุมมองของเราในการมองแอฟริกามันเปลี่ยนแปลงไป เราจะมองได้ว่าแอฟริกาก็มี agency เป็นของตัวเอง เดี๋ยวตรงนี้ขอแปลอังกฤษเป็นไทยก่อนก็แล้วกันนะครับ คือ agency เนี่ยจะหมายถึงว่า เรามองในมุมของแอฟริกา คือแอฟริกาก็ตั้งใจและใช้ทรัพยากรของตัวเองเป็น leverage หรือว่าเป็นเครื่องต่อรองทางการเมือง เครื่องต่อรองทางการทูต ในการต่อรองกับประเทศต่าง ๆ ที่มาทำความสัมพันธ์กับประเทศแอฟริกาก็ได้ ดังนั้นการมองแอฟริกาจึงเปลี่ยนแปลงไป คอร์สนี้ก็จะช่วยในเรื่องนี้นะฮะ มันคือการสร้างความรู้ใหม่และก็เปลี่ยนวาทกรรมที่บอกว่าแอฟริกาเป็นประเทศที่ยากจน แอฟริกาเป็นประเทศที่ underdeveloped แอฟริกาเป็นประเทศที่ยังด้อยพัฒนาอยู่ มันไม่ใช่ แต่ที่จริงแอฟริกาเป็นประเทศที่พัฒนาอยู่ตลอดเวลา และจะพัฒนาขึ้นไป และมีความสำคัญมากขึ้นในโลกที่มีความเปลี่ยนแปลงไปในยุคปัจจุบันฮะ

คราวนี้วิชาที่สองที่ชอบรองลงมาก็คือ China’s International Relations หรือว่าความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของประเทศจีน ซึ่งอันนี้เค้าจะตี scope ไปว่า เราจะเรียนตั้งแต่ตอนที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนใน 1949 ได้ตั้งในจีน และเราจะเรียนความสัมพันธ์ระหว่างประเทศตั้งแต่ 1949 จนถึงปัจจุบัน ของประธานาธิบดี สี จิ้นผิง อันนี้จากัวร์รู้สึกว่ามันค่อนข้างมีประโยชน์มาก เพราะถ้าเกิดเราพิจารณาจากมุมของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเราจะเห็นได้ว่าจีนเองก็มี potential หรือมีความสามารถในเวทีระหว่างประเทศเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนก็เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ บทบาทของจีนในเวทีการเมืองในต่างประเทศก็เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ เช่นเดียวกัน แล้วก็อาจจะเพิ่มขึ้นในอนาคต จากัวร์รู้สึกว่าวิชานี้เป็นวิชาที่จากัวร์รู้สึก enjoy แล้ว professor ที่มาสอนก็เป็นคนที่มีความเชี่ยวชาญทางด้านนี้จริง ๆ และเป็น professor ที่แต่งหนังสือมาค่อนข้างเยอะ ก็สามารถแนะนำให้เราและช่วยเราหาโอกาสต่าง ๆ ในการเรียนต่อหรือว่าโอกาสในการทำงาน หรือโอกาสที่เราจะมีส่วนร่วมในงานวิจัยของเค้า ซึ่งจากัวร์รู้สึกว่ามันค่อนข้างมีประโยชน์มาก ๆ คือนอกจากจะเป็นวิชาที่มีประโยชน์แล้ว อาจารย์ก็ยังเป็นคนที่ supportive มาก ๆ ด้วยเช่นเดียวกันนะฮะ

คราวนี้อันสุดท้ายคือวิชาที่จากัวร์ชอบน้อยที่สุด วิชานี้ทุกคนก็อาจจะเห็นด้วย คือวิชา Research Methods หรือว่าวิชาวิธีวิจัย โอเคมันได้ความรู้ ได้ทักษะในการทำวิจัยเพื่อที่จะเอาไปประยุกต์ใช้ในการทำ dissertation แต่ที่จากัวร์บอกว่ามันอาจจะเป็นวิชาที่ชอบน้อยที่สุดเพราะว่าเนื้อหาของมันไม่ค่อยที่จะหลากหลายประมาณนี้ มันจะทำให้เราได้รู้ว่ามันมีวิธีไหนบ้างในการทำวิจัย เช่น เราอาจจะวิเคราะห์วาทกรรม วิเคราะห์ตัวบท การใช้ case study เปรียบเทียบกัน หรือว่าการไปสัมภาษณ์ ทำยังไงถึงจะเรียกว่ามีจริยธรรมในการสัมภาษณ์อะไรแบบนี้ แต่เนื้อหามันจะไม่ค่อยหลากหลายเท่าไหร่นะฮะ แค่ให้เราได้รู้เฉย ๆ ว่ามีวิธีไหนบ้างที่จะสามารถทำให้เราทำวิจัยออกมาได้จริง ๆ แค่นั้นเอง ก็เลยรู้สึกว่าเป็นวิชาที่ชอบน้อยที่สุด แต่ก็ยัง enjoy อยู่นะ เพราะว่ามันเป็นทักษะที่เราสามารถใช้ได้จริง ทั้ง ป.โท และ ป.เอก

สนใจเรียนต่อ King’s College London ปรึกษาพี่ ๆ Hands On ฟรี คลิก

ขอเรื่องบรรยากาศในห้องเรียนบ้าง เป็นอย่างไรบ้างคะ?

#รีวิวอาจารย์

Jaguar: งั้นขอรีวิวอาจารย์ก่อนแล้วกัน คือจากัวร์รู้สึกว่า School of Global Affairs เนี่ย ได้เจออาจารย์ที่เข้าถึงได้ง่าย ซึ่งเป็นจุดที่ happy มาก ๆ ทำให้การเรียนป.โท ค่อนข้าง happy พอสมควรเลยฮะ นอกจากเข้าถึงได้ง่ายแล้วเนี่ย อาจารย์ยัง supportive คอยช่วยสนับสนุนในเรื่องต่าง ๆ นานา แต่อย่างไรก็ตามขอโน้ตไว้นิดนึงเพราะมันเป็นเรื่องที่ตัวบุคคล มันแล้วแต่ตัวบุคคลจริง ๆ บางคนอาจจะเจออาจารย์ที่แบบเข้าถึงยาก หรือเจออาจารย์ที่เนี๊ยบเกินไป หรือไม่สามารถเข้าถึงได้ ปรึกษาก็ต้องจองตารางคิวเยอะแยะมากมาย ดังนั้นมันก็แล้วแต่ตัวบุคคล จากัวร์ก็เลยรู้สึกว่าจากัวร์ค่อนข้างโชคดีที่เจออาจารย์ที่เข้าถึงง่าย ก็เลยทำให้มีความสุขกับการเรียนและทำให้การเรียนราบรื่นนะฮะ

#รีวิวเพื่อน ๆ

ส่วนเพื่อน ๆ เนี่ย ในคลาส lecture ก็จะเป็นเพื่อน ๆ กลุ่มใหญ่ จะมี classmate ประมาณ 60 -70 คน หรือบางครั้งเป็นวิชาที่ต้องเรียนทั้งคอร์สแบบที่ทุกคนต้องเรียน มันก็จะได้เจอทุกคนเลยในคอร์สนี้ก็ค่อนข้าง happy นะฮะ เราก็สามารถทำความรู้จักเพื่อนได้หลากหลายสัญชาติเลย

ส่วนการเรียนอีกแบบหนึ่งคือการเรียนแบบ seminar ก็จะเจอเพื่อนกลุ่มเล็ก อันนี้ก็จะทำให้เราสนิทกับเพื่อนมากขึ้น เพราะเราต้องเจอหน้าเพื่อนทุกสัปดาห์อะไรอย่างงี้ หรือบางครั้งเราก็ดันได้วิชาที่เป็น seminar 2 วิชาเหมือนกัน ก็จะเจอหน้ากันบ่อยใหญ่เลย

โดยรวมจากัวร์มีเพื่อนจากหลากหลายสัญชาติมาก ๆ คือมาจากทั่วทุกภูมิภาคของโลกเลยก็ว่าได้ ทั้งเอเชียก็มี ยุโรปก็มี แอฟริกาก็มี อเมริกาก็มี ออสเตรเลียก็มี มาหมดเลย แล้วเพื่อน ๆ หลายคนคือดีมาก เป็นกันเอง ทุกคนช่วยกันเรียน คือบางคนอาจจะมองว่า ป.โท เป็นสังคมของการแข่งขัน โดยเฉพาะถ้าเป็นมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงในต่างประเทศ แต่จากัวร์รู้สึกว่าเพื่อนที่จากัวร์เจอเนี่ยแข่งขันกันน้อยมาก ส่วนใหญ่จะเป็นการช่วยกันเรียนมากกว่า

#รีวิวกิจกรรมจาก School of Global Affairs

อีกทั้ง School of Global Affairs ที่จากัวร์อยู่จะมีกิจกรรมต่าง ๆ ที่จัดเพื่อให้เราได้มี networking ได้สร้างเครือข่าย สร้างเพื่อนตลอดเวลา มันก็เลยทำให้บรรยากาศในการเรียน ป.โท ของที่นี่ค่อนข้างเป็นกันเอง ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมที่เรียกว่า tea break อันนี้ก็คือนัดมากินข้าวกันแล้วก็พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน หรือว่าจะเป็นกิจกรรมที่ไปทำสาธารณประโยชน์ร่วมกันอย่างงี้เป็นต้น มันก็เลยทำให้บรรยากาศการเรียน และสภาพแวดล้อมกับเพื่อนก็ดี เลยทำให้การเรียนราบรื่น

#รีวิวการบ้านและ assignment

ส่วน assignment ค่อนข้างหลากหลายต้องบอกเลย แล้วมันก็ค่อนข้างแตกต่างกันไปตามคณะหรือตาม department ด้วย ซึ่งสำหรับ School of Global Affairs จะมีทั้งทำกิจกรรมออนไลน์ ซึ่งทำกิจกรรมใน Padlet, หรือการทำ discussion ใน seminar, หรือจะเป็นการสรุปบทความ ทำบทความ รีวิวบทความ เช่นเราอ่าน assignment มา แล้วเราก็ต้องรีวิวบทความแล้วก็เอามานำเสนอหน้าชั้นเรียนนะฮะ แล้วก็อื่น ๆ ซึ่งจากัวร์รู้สึกว่าการที่ได้รับ assignment ที่หลากหลายแบบนี้เป็นการฝึกให้เราสามารถทำงานได้หลากหลายมากขึ้นแล้วก็ได้ใช้ทักษะการคิดวิเคราะห์ที่หลากหลายเช่นเดียวกัน

#รีวิวการให้คะแนน

อันนี้เรื่องสุดท้ายคือเรื่อง assessment คือส่วนของการสอบ

assessment ถ้าเป็นของคณะสังคมศาสตร์หรือรัฐศาสตร์จะเป็น paper ซะส่วนใหญ่ แต่อันนี้ต้องบอกก่อนว่ามันมีการประเมินผลที่ค่อนข้างหลากหลายทีเดียว เช่น มี paper คือ รายงาน, การสอบเขียน, การสอบพูด คือการสอบ present แล้วก็ต่าง ๆ ซึ่งส่วนใหญ่การประเมินของ ป.โท อย่างที่จากัวร์บอกไป ถ้าเป็นสายรัฐศาสตร์จะเป็นการทำรายงานหรือการทำ paper เป็นพิเศษ แล้วคะแนนของการทำรายงานก็อาจจะกินไปทั้ง 80% – 90% หรือ 75% หรือบางวิชาอาจจะเป็น 100% เลยก็ได้ เพราะฉะนั้นเค้าก็เลยจะให้ความสำคัญกับการทำรายงานหรือการทำ paper มากเป็นพิเศษนะฮะ โดยปกติ paper จะอยู่ที่ประมาณ 2,500 – 4,000 คำ แล้วแต่อาจารย์จะกำหนด แต่ว่าส่วนใหญ่จะอยู่ที่ 3,000 – 3,500 คำเป็นปกติ เพราะถ้าเกิดเกินกว่านี้อาจจะกดดันละ ชีวิตป.โทชั้นจะเริ่มกดดัน (หัวเราะ) แต่ว่าก็มีเพื่อนที่เรียน LLM ที่เล่าว่าต้องสอบเขียนแล้วต้องทำ paper แบบ 4,500 – 5,000 คำ อันนั้นคือโอ้โห การเรียน ป.โท ก็จะค่อนข้างเครียดนิดหนึ่งอาจจะมีหัวหงอกกันได้ อ่านหนังสือเยอะ เพื่อที่จะเอามาทำรายงานเพียงชิ้นเดียว

บางวิชาก็จะมีสอบเป็นทำรายงานภายใน 24 ชั่วโมง ทำรายงาน 24 ชั่วโมงเนี่ยไม่ใช่ว่าเราจะต้องทำรายงานตลอด 24 ชั่วโมงนะ  คือเค้าจะกำหนดมาว่าในกรอบเวลา 24 ชั่วโมงเนี่ย เราจะต้องทำรายงานให้เสร็จแล้วก็ส่งให้ทัน ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นข้อสอบที่สามารถเปิดหนังสือได้ แล้วก็เป็นข้อสอบยาก ๆ ที่ต้องใช้ความคิด คือถ้าเกิดใครเตรียมความพร้อมมาไม่ดี ก็อาจจะต้องเสียเวลาในการนั่งเปิดนู่นนี่นั่นอะไรแบบนี้ ก็จะเป็นการทดสอบที่ท้าทายมาก ๆ ภายในเวลา 24 ชั่วโมงนี้

หรืออาจจะเป็นการเขียนลงกระดาษก็ได้ เช่น ของจากัวร์จะเป็นทั้ง oral examination แล้วก็ written examination – Written examination ก็คือการเขียนลงบนกระดาษไปเลย ก็คือไปสอบที่มหาวิทยาลัย ส่วน oral examination ก็จะเป็นการสอบออนไลน์ผ่าน Zoom หรือ MS Team แล้วก็สอบพูดกับอาจารย์ประมาณนั้นฮะ

หรือว่าอันสุดท้ายอันนี้จะเป็นไฮไลท์ของคอร์สนี้เลยคือทำ policy paper – policy paper คืออะไร ก็คือการที่ทำรายงานออกมาเพื่อที่จะไปแนะนำนโยบายที่เราสามารถปฎิบัติได้จริง เพื่อแก้ไขปัญหาปัญหาหนึ่งได้จริง ดังนั้นอันนี้จะเป็นการสอบที่ค่อนข้างท้าทายมากจริง ๆ ความยากคือความท้าทาย ยิ่งยากยิ่งท้าทายศักยภาพของเราไง แล้วยิ่งมันท้าทายเมื่อไหร่มันจะมีสองกรณีอีกแหละ คือกรณีแรกท้าทายแล้วมันรู้สึกสนุก แบบว่าทำแล้วมัน push limit ของตัวเองออกไป กับอีกกรณีนึงคือท้าทายแล้วห่อเหี่ยว แบบเจอของยากอีกแล้วอะไรแบบนี้ ซึ่งคนเราก็มันจะมีทั้งสองอย่างปน ๆ กัน แต่จากัวร์กลับรู้สึกว่าการที่เรามี assessment ที่หลากหลาย เช่นเดียวกันกับ assignment ที่หลากหลายมันก็เป็นข้อดีที่ทำให้เราได้เจอความท้าทายในหลากหลายรูปแบบ แล้วบางครั้งมันก็เป็นรูปแบบที่จะช่วยในการทำงานของเราในอนาคตจริง ๆ

อย่าง policy paper อันนี้ ยังไงถ้าเราจะทำงานในสายกำหนดนโยบายจริง ๆ ในอนาคต เราก็ต้องทำ policy paper เสนอกับบอสของเราอยู่ดี แล้วบางครั้ง policy ที่เราเสนอไป ก็อาจจะได้รับการปรับใช้จริง ๆ ก็เป็นไปได้ มันก็เป็นความภูมิใจเล็ก ๆ น้อย ๆ ของคนทำวิจัยและคนที่ทำงานในสายการกำหนดนโยบายของรัฐบาลนะฮะ

สนใจเรียนต่อ King’s College London ปรึกษาพี่ ๆ Hands On ฟรี คลิก

Dissertation และ Global Affairs CAPSTONE project

Jaguar: คือต้องบอกว่ามันมีสองสายให้เลือกครับ คือสาย CAPSTONE project กับสาย Dissertation ซึ่งอันนี้ต้องเลือกเอง ส่วนตัวจากัวร์เลือกสายที่เป็น dissertation เพราะว่ามันตอบโจทย์อนาคตตัวเรามากกว่า เพราะเราจบ ป.โท แล้วก็อยากจะต่อ ป.เอก ดังนั้น dissertation ก็จะช่วยเรื่องการเรียนต่อ ป.เอก มากกว่า CAPSTONE project

คือส่วนใหญ่คนที่เลือก CAPSTONE project จะเหมาะกับคนที่สนใจจะทำงานในกลุ่มการกำหนดนโยบาย หรือว่าหน่วยงานรัฐบาลของอังกฤษ หรือว่าต้องการกำหนดนโยบายของบริษัทเอกชนในอังกฤษ ดังนั้นสายงานค่อนข้างที่จะต่างกันพอสมควร มันก็เลยมีสองทางเลือกให้กับนักศึกษาที่เรียนคอร์สนี้ว่าอยากจะเดินไปต่อฝั่งไหน ก็คิดว่าคอร์สนี้ค่อนข้างยืดหยุ่นและก็เป็นประโยชน์มากสำหรับคนที่จะมาต่อสายนี้

Global Affairs CAPSTONE project

Jaguar: จุดเด่นของคอร์สนี้จริง ๆ คือการทำสิ่งที่เรียกว่า Global Affairs CAPSTONE project

CAPSTONE project คือเราจะได้ประสบการณ์ hand on จริง ๆ เราจะได้มีประสบการณ์เข้าไปทำงานในการกำหนดนโยบายกับวงการการกำหนดนโยบายของประเทศอังกฤษ ซึ่งมันค่อนข้างมีประโยชน์แบบมากจริง ๆ เราจะได้เห็นการทำงานจริง ๆ มันจะต้องทำยังไง แล้วอีกประโยชน์นึงคือเราจะสามารถสร้างเครือข่ายกลุ่มผู้กำหนดนโยบายในประเทศอังกฤษได้จริง ซึ่งถือว่าเป็นประโยชน์มาก ๆ ถ้าเกิดว่าใครอยากจะมาทำงานต่อที่ประเทศอังกฤษหลังจากเรียนจบ อย่างแพลนว่าเรียนจบแล้วจะทำงานต่อที่นี่เลย อยากทำงานในวงการนี้ วงการนักวิเคราะห์ วงการการกำหนดนโยบายประมาณนี้ คอร์สนี้ก็จะตอบโจทย์มาก ๆ

สนใจเรียนต่อ King’s College London ปรึกษาพี่ ๆ Hands On ตัวแทนมหาวิทยาลัยอย่างเป็นทางการประจำประเทศไทยฟรี เพียงกรอกแบบฟอร์มด้านล่าง