SOP: So Over Predict?

  • Share this:

SOP: So Over Predict?

การเขียน Statement of Purpose หรือ SOP คือการได้ค้นพบอีกด้านหนึ่งที่มีสาระของตัวเอง ก่อนหน้านี้ไม่เคยวาดฝันมาก่อนว่า เหย! โตไปแล้วจะเปิดสตาร์ตอัพนะ อีกหลายปีข้างหน้าหลังเรียนจบเราจะเปิดธุรกิจของตัวเองนะ เกี่ยวกับสุขภาพด้วยแหละ อินเทรนด์มากๆ รวมถึงไม่เคยทบทวนเลยว่า เออ สิ่งที่เราเรียนมานั้นมีความหมายอะไรกับชีวิตมั่ง จะเอาไปต่อยอดยังไง ชีวิตแลดูมืดมนไร้หนทางราวกับอยู่ในอุโมงค์ใต้น้ำ จนกระทั่งได้มาทำความรู้จักกับ Statement of Purpose ของตัวเอง

แวบแรกที่อ่านจบ…หืม นี่เราเหรอ? ทำไมแลดูเป็นคนช่างวางแผน มีเป้าหมายในชีวิต ไม่ใช่เด็กกะโหลกกะลาแบบที่รู้สึกเมื่อตะกี้ตอนตื่นนอน ถ้าให้ยอมรับกันตามตรง แผนการต่างๆ ที่ดูเหมือนร่างมาตั้งแต่เรียนประถมนั้น แท้จริงแล้วเพิ่งคิดออกก็ตอนเขียน Statement of Purpose นี่แหละค่ะ

เมื่อเราเขียน Statement of Purpose เราต้องเค้นด้านดีของตัวเราออกมาให้มากที่สุด ต้องแสดงด้านเอาจริงเอาจังออกมาในระดับสิบล้านบวก และต้องโชว์ให้เห็นว่าที่จะเรียนต่อเนี่ย ไม่ได้จะมาผลาญตังค์พ่อแม่เล่นๆ นะ แต่ฉันมีจุดหมายในชีวิต แล้วคอร์สเรียนของยูว์นี่แหละที่จะนำพาฉันให้ไปถึงจุดนั้น!! (ขอซาวด์เอฟเฟ็กต์พลุดังปังๆ ประกอบหน่อย) อวยอีกฝ่ายได้แค่ไหนก็อวยกันไป ในขณะเดียวกันก็อวยตัวเองให้สุดๆ อวยแบบอยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริงอะ ทำได้ใช่มะ?

อืม ไม่ง่ายเลย การที่จะขยายสิ่งที่เราเป็นในชีวิตให้มันดูยิ่งใหญ่อลังการขึ้นนี่ต้องใช้สกิลพิเศษจริงๆ

ก็เหมือนเรื่องอื่นๆ แหละค่ะที่ต้องฝึกฝนระดับหนึ่งก่อนจะทำออกมาได้เป็นที่น่าพอใจ อย่าง Statement of Purpose ของเราก็ผ่านการแก้หลายรอบจนกว่าจะได้เวอร์ชั่นที่เป็นทางการ แล้วเวอร์ชั่นทางการเนี่ย ก็ไม่ได้หมายความว่ามัน Perfect ไร้ที่ตินะ พอเราเอากลับมาอ่านอีกรอบก็ยังเจอจุดตำหนิเล็กๆ เหมือนรอยด่างบนผ้าที่เราเคยคิดว่าขาวนั่นละ

แต่อย่าเพิ่งท้อไปค่ะ! การเขียนเรียงความขนาดความยาวหนึ่งหน้าถึงหนึ่งหน้าครึ่ง A4 นั้นไม่ได้ทรหดขนาดนั้น ถ้าตั้งใจกัดฟันเขียนดราฟต์แรกจริงๆ วันเดียวก็เสร็จ พอเขียนเสร็จดราฟต์แรกนี่ อื้อหือ! รู้สึกเหมือนเข้าใกล้ความฝันขึ้นอีกหนึ่งสเต็ป นั่งอ่านเรียงความตัวเองซ้ำไปซ้ำมาแล้วยิ้มเหมือนคนบ้า

Statement of Purpose ที่ดีนั้นก็มีลักษณะไม่กี่อย่าง แต่ละอย่างก็อาจจะถูกนำมาถ่ายทอดไม่เหมือนกัน เราขอยกตัวอย่างของเรา เผื่อจะนำไปปรับใช้กันได้ค่ะ

  • อย่าบอกแค่ว่าเคยเรียนอะไรมา แต่ให้เสริมด้วยว่าสิ่งที่เรียนมานั้นนำเรามาถึงจุดนี้ได้ยังไง และจะนำความรู้เก่าไปต่อยอดอะไรในอนาคต

ดังนั้น ไม่ต้องกังวลไปหากคุณจบเศรษฐศาสตร์มาแล้วอยากจะไปต่อแฟชั่นดีไซน์ เพียงแค่เขียนอธิบายส่วนนี้ให้ดีๆ ว่าเราจะนำสองศาสตร์นี้มาเชื่อมโยงเพื่อให้เกิดประโยชน์ยังไง เรียงความของเราก็จะดูมีทิศมีทาง มีเหตุมีผลน่าจูงใจมากขึ้น ในความเห็นเรานะ คนที่วางแผนจะเรียนต่างสายนั้นน่าสนใจกว่าคนที่เรียนสายเดิมซะอีก เพราะสิ่งใหม่ๆ น่าตื่นตาตื่นใจมักจะเกิดขึ้นเวลาศาสตร์หลายๆ ศาสตร์มาปะทะกันนี่แหละ ส่วนคนที่จะต่อสายเดิม ก็โชคดีไปในส่วนที่ว่าเราจะดูเหมือนคนวางแผนมาดีพร้อม แน่วแน่ว่าจะเลือกเดินในเส้นทางนี้

sop

  • หากมีประสบการณ์การทำงาน ให้เล่าคร่าวๆ ว่างานที่เราทำนั้นพัฒนาเรายังไงบ้าง และปูทางไปสู่อนาคตของเรายังไง

ฟังดูพรมแดงมาก เอาจริงๆ ตอนสมัครงานที่แรกนี่ก็ไม่ได้คิดอะไรมากมายไปกว่า ‘ฉันอยากได้งาน’ สำหรับใครที่ไม่ได้เคว้งคว้างแบบเราก็ดีไปค่ะ แต่ถ้าใครร่วมชะตากรรมเดียวกันกับเราแล้วละก็ หนทางยังไม่ดับสิ้นจ้า

เราเชื่อว่าทุกๆ งานมีข้อดีในตัวของมัน พยายามดึงสิ่งที่เราพบเจอในที่ทำงานมาขยายความให้ดูเป็นรูปธรรมมากขึ้น เช่น เราต้องตรวจและดูแลข้อมูลหลายๆ อย่างในคราวเดียวกัน ก็เขียนไปสิว่า เนี่ย ฉันมีความรับผิดชอบนะ ฉันบริหารเวลาได้ดี ฉันมีความละเอียดถี่ถ้วน ส่วนใครที่ได้ทำงานเป็นทีมบ่อยๆ ก็เล่นจุดนี้เลย ฉันได้เรียนรู้ทีมเวิร์ก รู้จักผ่อนหนักผ่อนเบา รับมือกับเพื่อนร่วมงานความคิดแปรปรวนได้

นอกจากนี้ เสริมไปด้วยก็ดีว่างานของเราสร้างแรงบันดาลใจให้เราอยากเรียนต่อสาขานี้ยังไงบ้าง อาจจะเป็นการเชิดชูเจ้านายหรือเจ้าของกิจการว่าอู้หู เก่งจัง อยากเป็นให้ได้แบบเขาบ้าง หรือทำไปทำมาแล้วรู้สึกว่าเฮ้ย ถ้าไม่เรียนต่อ ฉันจะต้องย่ำอยู่กับที่แน่ๆ ฉันอยากไปสูงกว่านี้อะ อยากทำงานในตำแหน่งนี้ ก็ว่ากันไปค่ะ

sop

  • เล่าว่าหลังเรียนจบไปแล้วอยากทำอะไร

ถ้ามีแผนอยู่แล้ว ดีจ้ะ! แต่ถ้ายังงงๆ กับชีวิต แค่มหา’ลัยยังไม่แน่ใจเลยว่าจะเอาที่ไหนหากเค้ารับหมด ก็จงเค้นทุกๆ สิ่งอย่างที่เจ้าเคยเสพมา ไม่ว่าจะเป็นทางสื่อ นิทรรศการ งานแนะแนว หรือแม้กระทั่งความชอบในด้านใดด้านหนึ่งของตัวเอง รีดมันออกมาแล้วปั้นให้มันเป็นรูปร่าง เขียนออกมาให้ชัดเจนที่สุดว่าอยากทำอะไร เช่น ทำธุรกิจเกี่ยวกับเสื้อผ้า, เป็นอาจารย์สอนเด็ก, อยู่ในองค์กรยักษ์ใหญ่ของโลกอย่างกูเกิ้ล เฟซบุ๊ก – เขียนเลยค่ะ กติกาคือทำยังไงก็ได้ให้ดูเหมือนว่าเราวางแผนไว้เรียบร้อยแล้ว (แม้ความจริงจะยังมึนๆ ก็เถอะ) ยังไงคนอ่านเค้าก็ไม่มีทางรู้หรอกว่าแผนของเราแท้จริงแล้วคืออะไร ถ้าเค้าอ่านแล้วรู้สึกว่ามันใช้ได้ เค้าก็รับ สมมติว่าเราเข้าไปเรียนแล้วเกิดอยากเปลี่ยนแผนในอนาคตทีหลัง ใครเค้าจะไล่เราออกแล้วหาว่าเราโกหกใน SOP ล่ะจริงมั้ย

ดังนั้นกฎสำคัญ คือ เขียนให้ดูเหมือนว่าเรามีแผนการในอนาคตวางไว้เรียบร้อยแล้ว ระยะสั้นจะทำอย่างนี้ ระยะยาวอยากเป็นแบบนี้ เล่าไปให้เต็มที่ค่ะ แค่ให้อยู่บนหลักแห่งความเป็นจริงละกัน

sop

  • ทำไมถึงเลือกเรียนคอร์สนี้ ของมหา’ลัยนี้

เรียกได้ว่าเป็นคำถามบังคับของการไปสมัครในที่ต่างๆ เลยก็ว่าได้ แน่นอนว่าถ้าเราเป็นอีกฝ่าย เราก็คงอยากรู้นะว่าทำไมเธอสนใจที่ของฉัน ตรงไหนของฉันที่ดึงดูดใจเธอได้ เค้าก็คงอยากรู้แหละเพื่อที่ว่าตัวเค้าเองจะได้ชัดเจนด้วยว่าเค้ามีจุดแข็งตรงนี้ สำหรับการเขียนอวยในพาร์ทนี้ เราแนะนำว่าอย่าเขียนให้คนอ่านรู้สึกเหมือนว่า…เป็นที่ไหนก็ได้ป้ะ คอร์สเรียนน่าสนใจงี้ บรรยากาศเป็นกันเองงี้ มีชาวต่างชาติเยอะงี้ ดูท้าทายงี้… คือมันก็เป็นแบบนี้ทุกที่อะ ถ้าจะให้โดดเด่นนะ เราเสนอว่าลองค้นเว็บไซต์มหา’ลัยเลย ดูว่าเขาเสนอสิ่งพิเศษที่ไม่มีในที่อื่นๆ ให้เรามั่ง ตัวอย่างเช่น บางที่อาจจะเน้นการปฏิบัติจริง บางที่อาจจะเน้นทำรีเสิร์ช บางที่อาจจะมีชมรมพิเศษช่วยให้นักศึกษาวางแผนอนาคต บางที่มีการประกวดที่เราสนใจ บางที่มีวิชานี้ที่เราอยากเรียนสุดๆ – พยายามหาให้ได้ว่าแต่ละมหา’ลัยที่เราสมัครไปนั้นมีข้อแตกต่างยังไงแล้วเขียนลงไป เค้าจะได้รู้สึกว่าเราทำการบ้านมาดีนะ

sop

ทั้งหมดทั้งมวลนี้ หากเรายื่นหลายๆ มหา’ลัย เราจึงสรุปได้ว่า…เราจะมี SOP มากกว่าหนึ่งเวอร์ชั่นนั่นเอง เย่!! ยุ่งยากชะมัด เขียนแค่ฉบับเดียวก็จะแย่แล้ว ยังต้องมาปรับแก้ให้ไม่เหมือนกันอีก (#หัวเราะทั้งน้ำตา) แต่เชื่อเถอะค่ะ มันคุ้มค่าจริงๆ เอาเข้าจริงมันก็ไม่ใช่งานหนักอะไร เราแค่แก้ไขในส่วนที่บ่งเน้นถึงมหาวิทยาลัยต่างๆ ให้สอดคล้องกับที่ที่เราจะยื่น เนื้อหาที่เราคงเดิมไว้ก็จะเป็นพวกประวัติของเรา เป้าหมายของเรา ประสบการณ์ของเรา (อาจจะแก้ก็ได้หากยื่นหลายสาขา) ไม่เยอะหรอก ถ้าดราฟต์แรกเสร็จ ทุกอย่างก็ง่ายแล้ว

จากนั้นก็มาถึงปัญหาสำคัญระดับชาติของเด็กไทย…หลักไวยากรณ์ ไม่ใช่แค่เด็กไทยหรอก เด็กที่เรียนอินเตอร์ฯ มาตั้งแต่เล็กอย่างเรายังหวาดเจี๋ยวเลย ด้วยความที่ SOP เป็นเรียงความด้านการศึกษาไง แถมยังส่งให้คนอังกฤษอ่านด้วยนะ โอ้โห! ฟีลเครียดมาเต็ม กลัวผิดแกรมม่า กลัวเขียนไม่สลวย กลัวเค้าไม่อ่าน ปาลงถังขยะ เพราะภาษาแย่เกินต่อมความเข้าใจจะประมวลไหว กลัวนู่นกลัวนี่จนลืมไปว่าเนื้อหาต่างหากที่สำคัญเป็นอันดับหนึ่ง โอเคว่าภาษาก็มีส่วนแหละ เพราะถ้าเขียนไม่รู้เรื่อง แกรมม่ายับ ใครเค้าจะให้เราไปเรียนประเทศที่มันต้องใช้ภาษาอังกฤษล่ะ แต่ก็อย่าให้ความกังวลแกรมม่ามันมาบดบังความสำคัญที่แท้จริงของ SOP จนมากเกินไปค่ะ เราควรทุ่มเวลาให้กับเนื้อความมากกว่าความถูกต้องของหลักภาษา

Note: โชคดีสำหรับคนที่สมัครผ่านบริษัทตัวแทนมหาวิทยาลัย (อย่างเช่น Hands On อิอิ) เค้ามีการแนะแนวและรับตรวจ Statement of Purpose ฟรีด้วยนะ มีคำถามหรือต้องการคำแนะนำเกี่ยวกับการเขียน SoP ลงทะเบียนเพื่อรับคำปรึกษาจาก SoP Clinic ได้ที่ www.hands-on.co.th/events/  ให้คำปรึกษาฟรีไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ (บริการพิเศษสำหรับน้องๆ ที่สนใจสมัครเรียนต่อ UK หรือ USA กับมหาวิทยาลัยที่ Hands On เป็นตัวแทนเท่านั้น)

สนใจเรียนต่อ University of Edinburgh ลงทะเบียนเพื่อรับข้อมูลเรียนต่อและคำปรึกษาจากพี่ๆ Hands On ตัวแทนมหาวิทยาลัยอย่างเป็นทางการประจำประเทศไทย ฟรี คลิก

Enquiry Form

Please provide the following information and we will aim to respond within 48 hours:

Your details
Please enter your first name.
Please enter your last name.
Please enter a valid email address.
Please enter your phone number.
Please select a country you want to study.
Please select a year you want to study.
Please select your preferred branch.

* All fields required (in English)

  • Share this: