สวัสดีค่ะ เผลอแป๊ปเดียวตอนเขียนบทความนี้ก็เกือบคริสต์มาสแล้ว เริ่มที่จะคุ้นเคยกับการเรียนปีสองขึ้นมาบ้าง จากที่คุยๆ ไปในบทความก่อนหน้าว่าการเรียนการสอนของปีนี้จะค่อนข้างแตกต่างจากปีแรกเข้าพอควร แต่ถ้าเทียบกับระบบที่ไทยเราคิดว่าการ เรียนที่ประเทศอังกฤษ แตกต่างกันค่อนข้างมาก รวมถึงวัฒนธรรมบางอย่างของคนอังกฤษด้วยที่ทำให้เราต้องปรับตัวแบบเร่งรัด บทความนี้เลยจะมาพูดถึงระบบต่างๆ ที่ไม่เหมือนไทยของอังกฤษค่ะ
1. เครื่องแต่งกาย
อย่างที่หลายคนอาจจะรู้อยู่แล้วว่ามหาวิทยาลัยส่วนใหญ่ของอังกฤษไม่มีชุดยูนิฟอร์ม การแต่งตัวเลยขึ้นอยู่กับความพึงพอใจของนักศึกษาซะส่วนมาก บางคนก็แต่งจัดเต็มมาเดินแฟชั่นวีค บางคนก็หยิบอะไรได้ก็ใส่มา แต่ก็จะขึ้นอยู่กับอากาศแต่ละช่วงด้วย แน่นอนว่าหน้าหนาวคนก็จะสวมโค้ทสวมสเว็ตเตอร์ทับกันไปตามเรื่อง แต่ก็จะมีกลุ่มคนที่จะไม่ยอมให้ความหนาวมาทำลายรันเวย์ก็เหมือนกัน วันที่อุณหภูมิ 10 องศาเราก็ยังเคยเจอคนใส่กระโปรงสั้นเสื้อแขนกุดท้าลมมาแล้ว
2. ตึกเรียน
ตึกเรียน Graphic Design กับ Visual Communication ที่มหาวิทยาลัย Art University Bournemouth
จำนวนนักศึกษาร่วมคณะของเรามีอยู่ประมาณ 80 คนค่ะ และแต่ละสาขาก็จะรับจำนวนประมาณนี้ ตึกเรียนแต่ละตึกก็จะมีพื้นที่ไม่ได้ใหญ่มากนักไม่เหมือนกับไทยที่จะมีการแยกแต่ละคณะออกจากกันแล้วมีป้ายใหญ่ๆปักบอกไว้ ตึกที่เราเรียนนอกจากกราฟฟิคแล้วก็จะมี Visual Communication ที่ใช้ร่วมกัน แล้วก็มีอีกหลายตึกที่หลายคณะใช้ร่วมกัน ชั้นล่างสุดก็จะเป็นประชาสัมพันธ์หลัก พ่วงห้องเลคเชอร์ใหญ่เอาไว้ด้วย แต่ก็เพราะอย่างงี้เวลาหาห้องเรียนมันก็จะยากหน่อย ถึงแม้จะมีการใช้รหัสบอกพิกัดบางทีก็พาลหาไม่เจอ บางครั้งก็หนักขนาดหาตึกไม่เจอด้วยซ้ำ แต่ข้อดีก็คงเป็นที่สีสันหรือการออกแบบที่ไม่เหมือนกันสักที่ เลยค่อนข้างง่ายในการจำ
ตึกเรียนภาพพิมพ์กับ fine art (สีขาว ขวามือ), ตึก student service (สีน้ำตาล ขวามือ)
ตึกเรียน Fashion
3. โรงอาหาร
อาหารในแต่ละวันก็จะมีประมาณ 4 อย่างให้เลือกสรรวางอยู่ที่เคาน์เตอร์ในรูป โดยจะมีพนักงานคอยตักให้แล้วเราถึงเดินเอาจานไปจ่ายเงินที่เคาน์เตอร์เล็กอีกฝั่ง รสชาติขอละเอาไว้ อันนี้แล้วแต่รสนิยมจริงๆ แต่สำหรับเราว่าค่อนข้างจืด ยกเว้นพิซซ่าที่น่าจะเป็นอย่างเดียวที่กินได้โดยไม่ต้องเติมเกลือเพิ่มแล้ว ระบบตรงนี้ก็จะต่างกับไทยที่มีร้านให้เลือกกินเยอะกว่านี้ คิดถึงข้าวขาหมูมากค่ะ
4. หลักสูตร
พูดถึงวิธีการสอนและวิชาเรียนแล้วข้อนี้ยืนยันเลยว่าแตกต่างกันมากจริงๆ อย่างแรกถ้าเป็นทางสายศิลปะพวกวิชาเรียนก็จะไม่มีวิชาเลข วิทย์ และสังคมแบบที่เราคุ้นเคยกันเลย อย่าง Graphic Design ที่เราเรียนอยู่หลักๆ ก็จะจะกำหนดให้เทอมนึงมีหลายยูนิต หนึ่งยูนิตใหญ่ก็แยกย่อยเป็นโปรเจค เช่น visual systems unit จะมีโปรเจคย่อยเป็น visual synthesis, journey book, employability และ industry brief ค่ะ ซึ่งแต่ละโปรเจคก็จะมีจำนวนชิ้นงานแตกต่างกันไป แล้วแต่อาจารย์กำหนดเอาไว้ บางทีก็ 5 ชิ้นเล็ก บางทีก็ 1 ชิ้นใหญ่ แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีงานวิชาการเลย รายงานพันกว่าคำรอเราอยู่ค่ะ
แต่สิ่งที่จะเน้นมากที่สุดคือกระบวนการทำงานและการคิด ยิ่งขึ้นปี 2 ก็จะยิ่งเห็นได้ชัดว่าให้ความสำคัญกับ process และ content มากเพื่อความเป็นมืออาชีพ เวลาจะส่งงานก็จะต้องมีข้อมูลที่ค้นคว้า ที่มาของไอเดีย การทดลอง การพัฒนางานจนไปถึงงานสมบูรณ์ ชิ้นงานสำเร็จ สมุดสเก็ต อาจารย์จะพิจารณาทุกส่วนมาคิดรวมกันออกมาเป็นคะแนนค่ะ
Level 5 studio (ปี 2 = Level 5)
เวลาส่วนมากเลยจะหมดไปกับโปรเจคให้บริหารเวลากันเอง ระหว่างนั้นก็จะมี workshop กับ tutorial มาให้ลงอยู่เนื่องๆ โดยอันหลังนั้นจะไว้สำหรับเป็นเวลาให้เราสามารถปรึกษาอาจารย์เกี่ยวกับงานได้ มีกำหนดเวลาชัดเจนเพื่อจะได้เวียนครบทุกคนในชั้น ถึงจะเห็นว่ามีวิชาหลักอยู่อันเดียวแต่นั่นก็หมายความว่าเราต้องทุ่มทุกอย่างให้โปรเจคนั้น deadline ก็จะมีการกำหนดวันเวลาเป๊ะๆ ไม่มีให้ส่งเลท นอกจากจะป่วยหรือมีเหตุจำเป็นจริงๆ ต้องทำเรื่องก่อนวันส่งหนึ่งอาทิตย์ค่ะ ส่วนตัวเราค่อนข้างชอบระบบของที่อังกฤษก็ตรงนี้
ส่วนหนึ่งของตารางสอนค่ะ แต่ละอาทิตย์จะไม่ซ้ำกันเลย
งานกลุ่มเองก็มีอยู่เรื่อยๆ ค่ะ อาจารย์จัดให้บ้างแล้วก็ให้เลือกเองด้วย แต่ก็การันตีว่าได้ทำงานกับเพื่อนต่างชาติแน่ๆ แนะนำเลยว่าคิดอะไรหรือมีไอเดียให้พูดออกไปเลยค่ะ เพราะถ้าจะรอให้ถึงตาเราพูดบ้างนี่บอกเลยว่าไม่มีช่องให้แทรก แต่จะทำแบบนั้นได้เราก็ต้องเข้าใจบรีฟซะก่อน ว่าเขาต้องการให้เราทำอะไร ตรงนี้ถ้าไม่เข้าใจอย่าอายที่จะถามค่ะ อาจารย์เองก็จะย้ำเรื่องนี้บ่อยๆ ส่วนเรื่องคะแนนเราว่าค่อนข้างแฟร์เพราะสมาชิกในกลุ่มก็จะได้คะแนนไม่เท่ากัน อย่างที่บอกไปแล้วว่าเขาจะไม่ได้ดูแค่งานจบเท่านั้น แต่เขาจะให้ส่งพวกกระบวนการทำงานส่วนต่างๆ เป็น Keynote หรือ เป็น Power Point ส่งพวกกระบวนการทำงานส่วนต่างๆ โดยที่ไม่ได้เปรียบดูแค่งานจบเท่านั้น แต่จะดูอย่างอื่นประกอบด้วย ตรงนี้แหละค่ะที่ทำให้เห็นว่าใครทำมากทำน้อยก็ได้ตามนั้น
เท่าที่คิดคร่าวๆ ก็น่าจะมีประมาณนี้นะคะที่ค่อนข้างแตกต่างกับที่ไทย โดยเฉพาะหลักสูตรการเรียนการสอน เราก็ต้องบริหารเวลากันเองไป คะแนนเข้าห้องจริงๆ แล้วก็ได้ส่วนหนึ่ง แต่ที่สำคัญที่สุดคือวันส่งงานหรือ hand in นี่แหละที่ตัดสินชะตาชีวิตเลย
แล้วนี่ก็คือ 4 สิ่งหลักๆ ที่เพื่อนๆ จะต้องเจอเมื่อมา เรียนที่ประเทศอังกฤษ ซึ่งมันแตกต่างจากเมืองไทยมาก สุดท้ายนี้ หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์กับเพื่อนๆ ที่ตั้งใจและวางแผนมาเรียนที่อังกฤษนะคะ อย่าลืมติดตามบทความต่อไปของปลื้มนะคะ ขอบคุณค่าา
สนใจเรียนต่อ Arts University Bournemouth ลงทะเบียนเพื่อรับข้อมูลเรียนต่อและคำปรึกษาจากพี่ๆ Hands On ตัวแทนมหาวิทยาลัยอย่างเป็นทางการประจำประเทศไทย ฟรี คลิก